อินโดนีเซียเสนอการแบ่งปันข่าวกรองเพื่อติดตามการก่อการร้าย
พลเอกรามิชาร์ด ราชูดู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย กล่าวว่าอินโดนีเซียจะเสนอโครงการการแบ่งปันข่าวกรองร่วมกันระหว่างสมาชิกของสมาคมอาเซียนเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่รุนแรงขึ้นของกลุ่มก่อการร้ายที่นับถือศาสนาอิสลามหัวรุนแรง
เหตุการณ์ความไม่สงบทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นกังวล เนื่องจากทั้งสามประเทศต้องรับมือกับการก่อการร้าย ร่วมกัน โดยมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (Islamic State: IS) ในอิรักและซีเรียจะได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มก่อการร้ายในท้องถิ่นที่ประกาศความจงรักภักดีต่อกลุ่มไอเอส
พลเอกรามิชาร์ด ราชูดู กล่าวว่าเขาจะเสนอโครงการริเริ่มในชื่อ “Our Eyes” ในที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ณ ประเทศฟิลิปปินส์ที่กำลังจะถึงนี้ โดยโครงการดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งในภาคพื้นสมุทร อากาศ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล เขากล่าวว่าอาเซียนจะต้องปรับในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวเมื่อมีโอกาสหารือกันในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม
นายราชูดูได้กล่าวในระหว่างการร่วมลาดตระเวนทางอากาศระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยการลาดตระเวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่ม และข้อตกลงหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับทั้งสามประเทศ ซึ่งรวมถึงการลาดตระเวนทางทะเลและการแบ่งปันข่าวกรองซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมโยงพื้นที่เขตแดนรอบทะเลซูลูซึ่งมีกลุ่มเคลื่อนไหวที่อาจเกี่ยวข้องกับ ISIS แฝงตัวอยู่
ที่มา straitstimes.com
โจโกวีย้ำกองทัพไม่ควรเล่นการเมือง
นายโจโก วิโดโด (โจโกวี) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียย้ำชัดว่ากองทัพอินโดนีเซียควรอยู่ห่างจากการเมืองและควรรักษาคำมั่นที่จะภักดีต่อรัฐ และรัฐบาล เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปีการก่อตั้งกองทัพอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา
ความเห็นดังกล่าวของนายวิโดโดเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างการกระทำและสิ่งที่นักวิเคราะห์เห็นว่าเป็นความทะเยอทะยานทางการเมืองของพล.อ.การ์ตอต นูร์มานต์โย (Gatot Nurmantyo) ผู้บัญชาการกองกำลังทั่วไปผู้สนับสนุนความคิดที่ว่าอินโดนีเซียกำลังถูกล้อมด้วย “สงครามตัวแทน” (Proxy wars) ที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงของต่างประเทศ รวมถึงภัยคุกคามครั้งใหม่ของฝ่ายคอมมิวนิสต์
กองทัพอินโดนีเซียถือเป็นกองกำลังแห่งชาติที่มีสถานะเหนือชนชั้นอื่นๆ และกลุ่มต่างๆ โดยไม่ได้ถูกแบ่งจากกลุ่มอื่นด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองแคบๆ และในทางปฏิบัติก็ไม่ได้เข้าสู่เวทีการเมืองด้วย นายวิโดโดกล่าวในขณะที่นั่งอยู่ข้างนายนูร์มานต์โยระหว่างชมขบวนแห่ของกองทัพในท่าเรือเมือง Cilegon
“การเมืองและความจงรักภักดีต่อประเทศชาติและรัฐสำหรับกองทัพ หมายถึงความจงรักภักดีในการสู้รบเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ความจงรักภักดีในการรักษาความสมบูรณ์ของดินแดน รักษารัฐบาลกลางของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รวมถึงความจงรักภักดีต่อรัฐบาลอินโดนีเซียที่มีความชอบธรรม นายวิโดโดกล่าวเสริม ทั้งนี้ในฐานะประธานาธิบดีนั้นเขายังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งด้วย
สำหรับภูมิหลังของกองทัพอินโดนีเซีย (The Indonesian armed forces: TNI) นั้นมีบทบาทสำคัญในด้านการเมือง และสังคมอินโดนีเซียมานานนับสามสิบปีภายใต้ระบอบเผด็จการของนายซูฮาร์โตซึ่งเป็นอดีตนายพลผู้ครองอำนาจหลังจากการกวาดล้างสังหารกลุ่มคนราว 500,000 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในปีค.ศ. 1965
นับตั้งแต่ประเทศเปลี่ยนผ่านไปเป็นระบอบประชาธิปไตย TNI ก็ได้ถอนตัวออกจากพื้นที่ทางการเมือง แต่อดีตนายพลยังคงมีบทบาทโดดเด่นในทางการเมืองอย่างเป็นทางการ และยังคงสถานะนำในสังคมอยู่ นักวิเคราะห์การเมืองบางคนกล่าวว่านายนูร์มานต์โยมีความทะเยอทะยานทางการเมืองที่ชัดเจนและกล่าวหาว่าเขาช่วยกระตุ้น “ความกลัวสีแดง” ซึ่งมุ่งเป้าโจมตีไปที่ประธานาธิบดีนักปฏิรูป (นายวิโดโด) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นลูกหลานของพรรคคอมมิวนิสต์
ทั้งนี้เมื่อเดือนที่แล้วนายนูร์มานต์โยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารตรวจดูภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อในยุคซูฮาร์โต ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆาตกรรมนายพล 6 นาย และการสังหารผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นในปี 1965 อีก ในการแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวสัปดาห์นี้ นายนูร์มานต์โยปฏิเสธว่านายวิโดโดได้ตำหนิเขาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องการสั่งซื้ออาวุธ หรือการที่เขาเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง โดยกล่าวว่า TNI ยังคงเป็นกลางในทางการเมืองในทางปฏิบัติ เขาเสริมอีกว่าผู้บัญชาการของ TNI ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่การเมืองของเขาเป็นการเมืองในนามของรัฐไม่ใช่การเมืองในทางปฏิบัติ ในฐานะผู้บัญชาการต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
ที่มา straitstimes.com