หลังจากที่ปารากวัยได้ยกเลิกข้อกำหนดการขอวีซ่าในการเข้าประเทศสำหรับชาวสิงคโปร์ หนังสือเดินทางสิงคโปร์ก็ได้กลายเป็นหนังสือเดินทางที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก ด้วยคะแนนปลอดวีซ่า 159 คะแนน
นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศในเอเชียมีหนังสือเดินทางที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก ตามดัชนีซึ่งได้รับการพัฒนาโดย บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก Arton Capital นายฟิลิปป์ เมย์ผู้อำนวยการจัดการของ Arton Capital สาขาสิงคโปร์กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูตและนโยบายด้านต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพของสิงคโปร์”
ดัชนีจัดอันดับหนังสือเดินทางของประเทศต่าง ๆ มีการเรียงลำดับตามการข้ามพรมแดนโดยปลอดวีซ่า ขึ้นอยู่กับจำนวนประเทศที่หนังสือเดินทางของประเทศนั้น ๆ สามารถเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า หนังสือเดินทางของประเทศสมาชิก 193 แห่งซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติ และอยู่ใน 6 ภูมิภาคจะถูกนำมาพิจารณา โดยในอดีต 10 อันดับแรกของหนังสือเดินทางที่มีอิทธิพลที่สุดในโลกมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศในยุโรป โดยมีเยอรมนีเป็นผู้นำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตามข่าวประชาสัมพันธ์ที่ออกเมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคม
ตั้งแต่ต้นปี 2017 ที่ผ่านมา เยอรมนีครองตำแหน่งที่ 1 ร่วมกับสิงคโปร์ ซึ่งกำลังเดินหน้าขึ้นอันดับหนึ่งจากการจัดอันดับ ในขณะที่หนังสือเดินทางเอเชียอื่น ๆ ที่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรกนั้น ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและมาเลเซีย โดยหนังสือเดินทางของสหรัฐอเมริกามีอันดับลดลงนับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดี ล่าสุดตุรกีและสาธารณรัฐแอฟริกากลางเพิกถอนสถานะการขอวีซ่าให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางของสหรัฐฯ
นายอาร์มานด์ อาร์ตันผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Arton Capital กล่าวว่า “การถือหนังสือเดินทางที่ปลอดวีซ่ากลายเป็นปัจจัยสำคัญในโลกปัจจุบัน มีคนจำนวนมากขึ้นทุกปีลงทุนหลายร้อย หลายพันดอลลาร์ในการครอบครองหนังสือเดินทางเล่มที่สอง เพื่อให้ได้โอกาสและความมั่นคงสำหรับครอบครัวของพวกเขา
ทั้งนี้สิงคโปร์ยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่สี่ในดัชนีประเทศที่มีเงื่อนไขการขอวีซ่าที่เข้มงวด อีกหนึ่งวิธีการวัดว่าประชากรประเทศนั้นมีอิสระในการเดินทางมากน้อยแค่ไหน ด้วยวิธีการคำนวณคะแนนที่ต่างออกไปจากการคำนวณว่าหนังสือเดินทางของประเทศใดมีอิทธิพลมากกว่ากัน
10 อันดับหนังสือเดินทางที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก (คะแนนอยู่ในวงเล็บ)
1. สิงคโปร์ (159)
2. เยอรมนี (158)
3. สวีเดนเกาหลีใต้ (157)
4. เดนมาร์ก ฟินแลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน นอร์เวย์ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร (156)
5. ลักเซมเบิร์ก สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ออสเตรีย โปรตุเกส (155)
6. มาเลเซีย ไอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา (154)
7. ออสเตรเลีย กรีซ นิวซีแลนด์ (153)
8. มอลตา สาธารณรัฐเช็ก ไอซ์แลนด์ (152)
9. ฮังการี (150)
10. สโลเวเนีย โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย (149)
ที่มา thestar.com