home

สถานการณ์เสรีภาพสื่ออาเซียน

ธันวาคม 14, 2018
สถานการณ์เสรีภาพสื่ออาเซียน

เสรีภาพของสื่อมวลชน หรือระดับความมีอิสระในการทำงานของสื่อมวลชนเป็นดัชนีชี้วัด ระดับความเป็นประชาธิปไตยที่สำคัญประการหนึ่ง เมื่อต้นเดือน พ.ย.

สำนักข่าวอาเซียนโพสต์รายงานว่าสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับวิกฤติ ชาติสมาชิกอาเซียน ล้วนถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่มากกว่า 120 จาก 180 ประเทศทั่วโลก จากการวัดระดับเสรีภาพสื่อโดย World Press Freedom Index ซึ่งแทบไม่ต่างจากผลการสำรวจดัชนีเสรีภาพสื่อโลกในปีที่แล้ว แนวโน้มเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้ง 10 ประเทศอาเซียนไม่ได้มีมากขึ้นแต่อย่างใด โดยอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 124 สูงสุดในบรรดาชาติอาเซียน ในขณะที่เวียดนามอยู่อันดับที่ 175 ต่ำสุดในภูมิภาคเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

เวียดนาม เป็นประเทศที่มีมาตรการการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดที่สุดในอาเซียน สื่อดั้งเดิม เช่น หนังสือพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์ ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ และเว็บบล็อกได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญใหม่ของรัฐบาลเวียดนาม การจัดการความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างหรือสัมปทานขนาดใหญ่อย่างกิจการเขื่อน หรือเหมือง และปัจจุบันรัฐบาลได้เพิ่มโทษจำคุกสำหรับบล็อกเกอร์ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จาก 2 ปี เป็น 15 ปี โดยมีนักข่าวและบล็อกเกอร์อย่างน้อย 16 รายถูกคุมขังจากประเด็นดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2559

ส่วนในประเทศที่มีการจำกัดเสรีภาพสื่ออันดับรองลงมา ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการควบคุมการทำงานของสื่ออย่างเข้มงวด บรูไนเคร่งครัดให้การทำงานของสื่ออยู่ภายใต้กรอบของศาสนาตามอุดมการณ์ว่า “วิถีชีวิตแบบมาเลย์ ศาสนาอิสลามและการยึดมั่นในระบบกษัตริย์” ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ได้ใช้มาตรการฟ้องร้องหมิ่นประมาทและแทรกแซงการรายงานข่าว ในกรณีมาเลเซีย รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค สามารถควบคุมเนื้อหาที่นำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์และสื่อกระจายเสียง โดยเฉพาะเรื่องข้อกล่าวหาคดีทุจริตในโครงการ 1MDB ขณะที่สิงคโปร์มีพระราชบัญญัติการออกอากาศที่ระบุให้สื่อต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล จ่ายค่าธรรมเนียมและแจ้งที่มาของเงินทุนในการบริหารจัดการองค์กรเป็นประจำทุกปี

ถึงแม้ว่าสถานการณ์เสรีภาพของสื่อในเมียนมาจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ภายหลังการออกกฎหมาย สื่อฉบับแรกไปในปี 2555 อย่างไรก็ตาม การจับกุมและตัดสินจำคุกนักข่าวเมียนมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ 2 รายเป็นเวลา 7 ปี ด้วยข้อหาว่า ทั้งคู่ลักลอบเข้าถึงและพยายามเผยแพร่ข้อมูลลับของทางราชการ ซึ่งเกี่ยวพันกับสถานการณ์และความไม่สงบในรัฐยะไข่ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่ออย่างรุนแรง

ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักข่าวก็ปรากฏอยู่ในกรณีของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเช่นกัน ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ประเทศนี้จะมีการบังคับใช้กฎหมายรับรองเสรีภาพของสื่ออย่างจริงจัง สำหรับฟิลิปปินส์มีรายงานว่านับตั้งแต่ปี 2529 มีนักข่าวถูกสังหารถึง 177 คน และภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เตยังมีแนวโน้มที่จะคุมสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นจากการเพิ่มมาตรการควบคุมสื่อ เช่น การตั้งกองกำลังความมั่นคงด้านสื่อในปี 2559 การสืบสวนสอบสวนประเด็นการหลบเลี่ยงภาษีกับสื่อที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ขณะที่ในอินโดนีเซียมีรายงานว่าเกิดการสังหารนักข่าวที่พยายามเข้าไปทำข่าวการตัดไม้ผิดกฎหมาย และการคุกคามสื่อที่ทำข่าวเรื่องชนบท ที่ดิน และกรณีชาวบ้านโดนไล่จากที่ดินทำกิน

การควบคุมเนื้อหาการนำเสนอข่าวและบทบาทของสื่อมวลชนอย่างเข้มงวดในชาติอาเซียน ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศได้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาล ซึ่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและแนวโน้มการพัฒนาประชาธิปไตยของอาเซียนอย่างไม่ต้องสงสัย และการดำเนินนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก ดูเหมือนจะยิ่งทำให้วิกฤติการการละเมิดสิทธิของภาครัฐต่อสื่อยังคงดำเนินต่อไป

ท่ามกลางอุปสรรคที่ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐ การพัฒนาบทบาท การมีส่วนร่วมทางการเมือง และเสรีภาพของสื่อมวลชนอาจจะสามารถทำได้โดยการประสานความร่วมมือระหว่างสื่ออาเซียนในการรายงานและนำเสนอข่าวร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การสร้างเครือข่ายสะท้อนความเป็นจริงของสังคมมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประชาธิปไตยจากล่างสู่บน ซึ่งก็ได้เห็นความพยายามและความตื่นตัวของสภาการหนังสือพิมพ์อาเซียน (Confederation of ASEAN Journalists) ในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้สื่อมวลชนในภูมิภาคได้แสดงบทบาทอย่างเสรี อันเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามและเป็นความคาดหวังว่า จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของระบอบการปกครองของกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคตอันใกล้

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน