เมื่อวันพุธที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เวลา 08.30 – 12.00 น. ศูนย์สารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียน สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานเสวนา OAR- ASEAN Plus Talk ครั้งที่ 1 เรื่อง “บทบาทไทยในอ่าวเบงกอล ภายใต้บริบทของ ASEAN และ BIMSTEC” ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวแนะนำ BIMSTEC ว่าเป็นความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi- Sectoral Technical and Economic Cooperation) และอธิบายถึงความสำคัญของข้อตกลงดังกล่าวว่า BIMSTEC ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 โดยประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม ตามวิสัยทัศน์มุ่งตะวันตก (Look West) ของไทยและมุ่งตะวันออก (Look East) ของอินเดียและเอเชียใต้
BIMSTEC มีจุดมุ่งหมายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม ในรูปของการฝึกอบรม การค้นคว้าวิจัย และการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ ปัจจุบันประกอบด้วยชาติสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล และภูฏาน
ผศ.สุรัตน์เสริมว่าความสัมพันธ์ของไทยและเอเชียใต้ดำรงอยู่มานานทั้งในด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทว่าทำไมความสัมพันธ์ระหว่างกลับไม่รุดหน้าเท่าที่ควร ปัญหาสำคัญมาจากตลาดในประเทศไทยที่ค่อนข้างเล็ก ประเด็นปัญหาข้ามชาติ ความร่วมมือระหว่างประเทศ การให้งบทำกิจกรรม สร้างประโยชน์ระหว่างไทยและอินเดียวร่วมกัน ในปัจจุบันทางโครงการกำลังทำความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทั้งนี้ภูฏาน บังคลาเทศ และตะวันออกของอินเดียมีทัศนคติเชิงบวกต่อไทย
สำหรับกรอบ BIMSTEC ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มเพื่อให้ไทยมีพื้นที่ มีจุดยืน เสนออัตลักษณ์ของตนเองได้ แม้ชื่อ BIMSTEC อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยเท่าอาเซียนเพราะที่ผ่านมาอินเดียมีภาพลักษณ์ในแง่ลบทั้งความแออัด ความยากจน ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ การคมนาคมที่ล้าหลัง ทำให้เรามองข้ามการพัฒนาและศักยภาพของอินเดีย ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญของ BIMSTEC คือมีหลายภาคส่วนมากเกินไปส่งผลให้จับประเด็นและขับเคลื่อนได้ยาก ทั้งนี้พัฒนาการสำคัญของ BIMSTEC ในช่วงที่ผ่านมาคือการตั้งสำนักเลขาธิการอยู่ที่กรุงดากา และต่อไปจะมุ่งขับเคลื่อนภาคการค้าเป็นสำคัญ
ในส่วนของดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอประเด็นเรื่องจินตภาพเกี่ยวกับ BIMSTEC โดยเน้นไปที่ประเด็นการทูตทางอาหารระหว่างไทยและอินเดีย การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของสองประเทศด้วยการศึกษาเรื่องอาหาร จะพบว่าประเทศใน BIMSTEC มีการวัฒนธรรมการทานอาหารแบบเดียวกัน เป็นสัญลักษณ์ร่วมกันของประเทศในเอเชียใต้ อาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยสร้างจินตนาการ ความเข้าใจใหม่ๆ สามารถเป็นตัวเชื่อมทางวัฒนธรรมทำให้เรารู้จักประเทศต่างๆ เรียกได้ว่าเป็น Gastrodiplomacy ซึ่งมีความกลมเกลียวคล้ายคลึงกันในเอเชียใต้ โดยเป็นแนวทางที่เริ่มได้ในระดับประชาชน ไม่ต้องรอให้รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อสร้างจินตนาการและความเข้าใจใหม่ระหว่างกัน ซึ่งสามารถต่อยอดความร่วมมือด้านต่างๆ ในอนาคตได้
อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด สาขาวิชาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวเสริมในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของไทยกับอินเดียว่าดำเนินมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในด้านภาษา วัฒนธรรม และพุทธศาสนาซึ่งมีการเดินทางแสวงบุญระหว่างประเทศตลอด พุทธศาสนาจึงช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาร่วมกัน และการเดินทางเผยแผ่ศาสนาทำให้เกิดความสัมพันธ์กันมาช้านาน มีการสร้างสถาปัตยกรรมจำลองสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างได้ไปเห็นมาจากอีกสถานที่หนึ่ง และปัจจุบัน แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาก็กลายเป็นจุดดึงดูดนักเดินทางให้ตามรอยสักการะวัด สถานที่สำคัญในพุทธประวัติ หรือพุทธศาสนสถานตามที่ต่างๆ ซึ่งนี่คือแกนกลางที่ยึดโยงประเทศต่างๆ ในแถบนี้ร่วมกัน และไม่ได้ห่างเหินกันอย่างที่เรารู้สึก
ปิดท้ายด้วยผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าให้เห็นถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียและจีนว่าทั้งสองประเทศเคยเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมากว่า 2000 ปี ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงในระลอกต่างๆ จากผลของสงคราม จักรวรรดินิยม หรือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในประเทศที่ส่งผลให้กำลังการผลิตของสองประเทศนี้ลดลง โดยในปัจจุบันอินเดียประเทศที่มีพการพัฒนาเป็นอันดับ 6 ของโลก และกำลังจะกลับมาเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่อีกครั้ง การทำความเข้าใจอดีตที่ผ่านมาจะทำให้เข้าใจแนวโน้มในอนาคตของอินเดียด้วย เมื่อย้อนดูแผนที่แสดงเส้นทางการเผยแผ่พุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราชจะพบว่าเป็นเส้นทางที่ใช้ในการขนส่งค้าขายระหว่างคนยุโรป จีนและอินเดีย ซึ่งเส้นทางนื้คือเส้นทางสายไหมในปัจจุบัน นอกจากเส้นทางดังกล่าวแล้วยังมีเส้นทางทางทะเลที่กองเรือนับ 300 ลำของเจิ้งเหอที่ใช้เดินเรือมาอย่างยาวนานด้วย ดังนั้นในปัจจุบันอาเซียน-อ่าวเบงกอล-เอเชียใต้ก็ยังตั้งอยู่ที่เดิมผลก็คือ สามพื้นที่นี้กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีการสัญจรทางน้ำที่คับคั่งที่สุดในโลก ทั้งนี้ความสัมพันธ์ของประเทศในอ่าวเบงกอล อยู่ในสถานะที่ดีไม่มีกรณีพิพาทดังเช่นในทะเลจีนใต้
นอกจากนี้ผศ.ดร.ปิติ ยังได้ยกตัวอย่างสถิติความเป็นอยู่ต่างๆ ในอินเดีย ทั้งสัดส่วนคนยากจนในประเทศที่ลดลงไปมาก อัตราการรู้หนังสือและอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ สะท้อนว่าการพัฒนาในอินเดียกำลังดำเนินการไปได้อย่างดี และจากข้อมูลที่ได้จากการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตรควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกพบว่าในปี 2050 ประเทศที่จะเป็นเบอร์ 1 ในด้านเศรษฐกิจ คือจีน รองลงมาคือสหรัฐฯ ส่วนเบอร์ 3 คือ อินเดีย เบอร์ 4 คืออินโดนีเซีย และเบอร์ 5 คือ ญี่ปุ่น แนวโน้มการพัฒนาของโลกในอนาคตจึงอาจกลับไปดังเช่นอดีตและไทยเองก็ควรพยายามเข้าไปเชื่อมโยงกับแนวทางการพัฒนาดังกล่าวในหลายๆ เส้นทาง
กล่าวได้ว่าแนวโน้มการพัฒนาของ BIMSTEC หลังการเข้ามาเป็นสมาชิกของเมียนมา เนปาล และภูฏานได้กลายมาเป็นอีกเส้นทางการพัฒนาสำหรับภูมิภาคเอเชียนอกเหนือไปจากแนวทางการพัฒนาหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางที่ริเริ่มโดยจีน ฉะนั้นไทยเองควรใช้โอกาสนี้พิจารณาเชื่อมโยงแนวทางการพัฒนาในประเทศกับแนวทางการพัฒนาในภูมิภาคอย่างรอบด้านมากขึ้นเพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศไทยที่สุด