home

อินโดนีเซียพิจารณาย้ายเมืองหลวง

พฤษภาคม 1, 2019
อินโดนีเซียพิจารณาย้ายเมืองหลวง

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้ประกาศความคิดที่จะย้ายเมืองหลวง แต่ก็ยังไม่มีแผนที่ปรากฏชัดเจน ซึ่งกรุงจาการ์ตานั้นไม่เพียงแต่เต็มไปด้วยปัญหามลพิษ ประชากรและการจราจรที่หนาแน่น ตัวเมืองยังประสบปัญหาแผ่นดินทรุดตัวเร็วที่สุดในโลก ซึ่งจากสถิติพบว่าตัวเมืองได้ทรุดตัวลง 2.5 เมตรในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี

ดังนั้น การที่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด หรือที่รู้จักกันในชื่อ โจโกวี (Jokowi) เสนอความคิดที่จะย้ายเมืองเมืองหลวงนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดการย้ายศูนย์กลางการบริหารราชการนั้นมีมานานตั้งแต่การก่อตั้งอินโดนีเซีย ซึ่งความคิดนี้ได้รับการเสนอตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีซูการ์โนในปี 2500 และก็ได้มีการถกประเด็นนี้เรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากไม่คิดว่านายโจโกวีจริงจังต่อแผนการดังกล่าว ทั้งนี้เป็นเพราะว่าแผนการนี้มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในทุกๆ สองถึงห้าปี แต่ก็ไม่มีการนำแนวคิดที่ว่านี้พัฒนาเป็นแผนการอย่างจริงจัง

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2562 หลังจากที่เมืองถูกน้ำท่วมอย่างหนัก นายบัมบัง โบรโยเนโกโร (Bambang Brodjonegoro) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนพัฒนาแห่งชาติอินโดนีเซียเปิดเผยว่าประธานาธิบดีได้ตัดสินใจที่จะย้ายเมืองหลวง อย่างไรก็ตาม นายบัมบังแทบจะไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ สร้างความหงุดหงิดให้แก่ชาวกรุงจาการ์ตาอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีนักภูมิศาสตร์ชาวอินโดนีเซียได้ออกความเห็นว่ารัฐบาลควรออกมาตรการแก้ไขปัญหามากกว่าการย้ายเมืองหลวง

อินโดนีเซียมีการรวมศูนย์อำนาจมาบนเกาะชวาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นเกาะที่มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก และความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะกระจายอำนาจ และกระตุ้นการพัฒนาในภาคตะวันออกของประเทศ

ถึงแม้ว่าจะยังไม่การเสนอพื้นที่ในการสร้างเมืองใหม่ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมืองปาลังการายา (Palangkaraya) ในเขตกาลิมันตัน (Kalimantan) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะบอร์เนียว (Borneo) ได้รับการแนะนำให้เป็นสถานที่ตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ก็มีนักวิขาการจากสถาบัน Democratic Economics แสดงข้อกังวลว่า การพัฒนาเมืองที่ไม่เปิดกว้าง และเท่าเทียมซึ่งได้เปลี่ยนให้กรุงจาการ์ตากลายเป็น “เมืองใหญ่” จะทำลายกาลิมันตันที่ได้รับผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้วมาอย่างยาวนาน เช่น เหมืองแร่ทองคำ น้ำมันและก๊าซ รวมถึงการตัดไม้ และการเพาะปลูกน้ำมันปาล์ม ดังนั้นนักวิชาการจึงให้ความเห็นว่า การย้ายเมืองหลวงไปยังในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของวิกฤตการณ์ระบบนิเวศอยู่แล้วนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม

นอกจากนี้ การย้ายเมืองหลวงนี้จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่กลุ่มชนชั้นนำในอินโดนีเซียมากกว่าการสร้างเมืองหลวงที่มีประโยชน์ใช้สอยสำหรับประชาชนทั่วไป และรัฐบาลควรจัดให้มีการลงประชามติก่อนที่จะตัดสินใจย้ายเมืองหลวง

ทางด้านของนายเบน แบลนด์ (Ben Bland) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันโลวี (Lowy Instituye) จากออสเตรเลียกล่าวว่า ความคิดของนายโจโกวีนั้นมีนัยทางการเมือง เนื่องจากอินโดนีเซียกำลังอยู่ช่วงการเลือกตั้งทั่วไปพอดิบดอดี

การประกาศการย้ายเมืองครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งผู้สมัครทั้งสองซึ่งได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปัจจุบัน และคู่แข่งคือ นายปราโบโว สุเบียนโต (Prabowo Subianto) ได้ชิงประกาศชัยชนะก่อนการสรุปผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม การนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการชี้ให้เห็นว่านายโจโกวีชนะการเลือกตั้งในสมัยที่สอง ซึ่งการอ้างชัยชนะจากทั้งสองฝ่ายทำให้เกิดความวิตกกังวลทางการเมืองเล็กน้อย ซี่งนายเบน แบลนด์ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งข้อเสนอย้ายเมืองหลวงและการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการนั้นเป็นการประเมินอำนาจทางการเมืองของนายโจโกวีท่ามกลางการแข่งขันจากฝ่ายตรงข้าม

นายเบน แบลนด์ ยังกล่าวเพิ่มว่า ถึงแม้ว่ากรุงจาการ์ตาจะมีปัญหามากมาย แต่การย้ายหรือสร้างเมืองใหม่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ชาวอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนการย้ายเมืองหลวงที่ปราศจากแผนชัดเจน

ที่มาข่าว: theguardian.com

ที่มาภาพ: dezeen.com

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน