สำหรับความคืบหน้าของประเทศลาว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 นายทองใบ โพทิสาน หัวหน้ากรมมรดก กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของลาว (Ministry of Information, Culture and Tourism) เปิดเผยว่า ทุ่งไหหิน แหล่งโบราณคดีของลาวที่มีอายุกว่า 3,000 ปี ตั้งอยู่บริเวณแขวงเชียงขวาง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO)
องค์การยูเนสโกจะออกประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ (Session of the World Heritage Committee) ครั้งที่ 43 ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2562 ณ ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยการประชุมที่ว่านี้ เป็นการประชุมเพื่อรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์มรดกโลก ร่วมกันหารือถึงแนวทางในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พิจารณามรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย และการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก เป็นต้น
สำหรับทุ่งไหหินที่รัฐบาลลาวยื่นเสนอขึ้นเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ พบไหหินกระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ ประมาณ 1,000 ไห ในพื้นที่จังหวัดเชียงขวาง (Xieng Khouang) ครอบคลุมพื้นที่ 4 เมือง ได้แก่ เมืองแปก เมืองพูกูด เมืองผาไซ และเมืองคำ
ประเทศลาวมีแหล่งโบราณคดีได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ นครหลวงพระบาง (ธันวาคม 2538) และปราสาทหินวัดพู แขวงจำปาสัก (2544)
สำหรับความร่วมมือระหว่างลาวและจีน รัฐบาลลาวได้ออกมาชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีนที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2559 ว่า ในขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 60 โดยเฉพาะในส่วนจองการขุดเจาะอุโมงค์ลอดผ่านภูเขาขนาดใหญ่
นอกจากนี้ หลังจากที่นายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศลาวได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า อยากให้ทางบริษัทรับเหมาก่อสร้างของจีนเพิ่มอัตราการจ้างงานแรงงานชาวลาวให้มากขึ้น โดยปัจจุบัน แรงงานชาวลาวที่ได้รับการจ้างงานอยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน มีเพียง 4,500 คน จากจำนวนแรงงานทั้งหมดกว่า 30,000 คน
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของลาว-จีน เริ่มต้นที่ด้านบ่อเต็นของลาวที่ติดกับด่านโมฮันของจีน (Mohan-Moten border) เพื่อเชื่อมต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ โดยการก่อสร้างที่เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 60 ของเส้นทางทั้งหมดนั้นเป็นสะพานและอุโมงค์
โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 5.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีเป้าหมายสำคัญในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างลาวและจีนรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการการลงทุนก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของลาวเท่าที่เคยมีมา
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2559 นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีของลาว และเอกอัครรัฐทูตจีนประจำลาว ได้ทำพิธีเปิดการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ ณ เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือด้านการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 417 กิโลเมตร
นายสิงเพด บุญสะหวัดทิพัน (Singped Bunsawantipan) รองหัวหน้าคณะกรรมการสอบสวนแห่งชาติลาว (Laos National Investigation Committee) เปิดเผยว่า รัฐบาลลาวได้ตั้งคณะทำงานจากสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างเขื่อนระดับโลกมาสืบสวนหาสาเหตุที่โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย (Xepian-XeNamNoy) เมืองสนามไซ แขวงอัตตะปือแตกเมื่อปี 2561 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลารวม 7 เดือน
จากการสืบสวนพบว่า สาเหตุที่เขื่อนแตกไม่ได้เป็นเพราะปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่เป็นเพราะการดำเนินการก่อสร้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากการแตกของสันเขื่อนอยู่ในช่วงของการเก็บกักน้ำเข้าอ่าง แม้จะมีฝนจะมีฝนตกอย่างหนักก่อนเขื่อนแตก แต่ระดับน้ำในอ่างยังต่ำกว่าระดับของสันเขื่อนมาก
พร้อมระบุถึงสาเหตุว่า ชั้นดินถูกกัดเซาะและมีช่องว่างเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดน้ำซึมบริเวณฐานของสันเขื่อนเมื่อมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพในการรับน้ำลดน้อยลงเนื่องจากชั้นดินมาความอ่อนตัว ไม่มีประสิทธิภาพในการรับน้ำ และพังลงมาในที่สุด ส่งผลให้มวลน้ำมหาศาลทะลักเข้าท่วม 6 หมู่บ้านท้ายเขื่อนอย่างรวดเร็ว โดยที่ชาวบ้านไม่สามารถรับมือได้ และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวน
ก่อนหน้านี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจลาวจะขยายตัวขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญมากจากอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ และเหมืองแร่ อันเป็นผลมาจากความพยายามของลาว ที่ต้องการก้าวเข้าสู่การเป็นแหล่งพลังงานแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (battery of South East Asia)
ปัจจุบัน รัฐบาลลาวได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับใช้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากประเทศจีน รองลงมาเป็นเงินลงทุนจากประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย