วัน/เวลา: วันอังคารที่ 5 มีนาคม 2562 เวลา 9.00–12.00 น.
สถานที่: ห้องประชุม 1 ชั้น 14 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์ สนามเป้า
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 โครงการ “จับตาอาเซียน” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุม TRF–ASEAN Research Forum เพื่อให้นักวิจัยนำเสนอหัวข้อโครงการวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ประชาธิปไตยในเอเชีย ในสามกรณีศึกษาจากนักวิจัย 3 ท่าน ได้แก่ 1.การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ โดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า 2.การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย โดย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 3.การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ โดย ผศ.ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ข้อเสนอโครงการวิจัย
- การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์: ชนชั้นนำ เครือข่ายอุปถัมภ์ และภาคประชาชน โดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
ข้อเสนอโครงการวิจัยชิ้นแรกของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ในหัวข้อการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์นั้น จะมุ่งเน้นศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่เคยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยเป็นรูปแบบอื่น โดยมีสมมุติฐานว่าประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์นั้น เป็นผลพวงมาจากโครงสร้างทางสังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองที่หลากหลายและภาคประชาชนส่วนต่างๆ ที่ตื่นตัวและไม่ตื่นตัวทางการเมือง
ดร.สติธร ระบุถึงความสำคัญต่อการศึกษาประชาธิปไตยไว้ว่า ฟิลิปปินส์เป็นรัฐประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าประเทศภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอส จะเป็นในรูปแบบอำนาจนิยมในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2503 ถึง 2523 ก็ตาม โดยพื้นฐานแล้ว ระบบการเมืองการปกครองของฟิลิปปินส์นั้นวางตามแบบของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นระบบประธานาธิบดีที่ซึ่งได้รับการรับเลือกโดยตรงจากประชาชน และมีการแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ นอกจากนี้แล้ว ยังมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงไปยังหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น ประกอบด้วยจังหวัด เมือง เทศบาล และบารังไกย์ซึ่งหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เล็กที่สุด
โครงสร้างทางการเมืองของฟิลิปปินส์นั้นมีความเป็นประชาธิปไตยสูง โดยสังเกตจากการที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งในหลายระดับตั้งแต่ระดับเล็กสุดคือบารังไกย์ จนไปถึงระดับชาติคือการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีปัจจัยบางประการที่ขัดแย้งกับค่านิยมทางประชาธิปไตยได้แก่ การคอรัปชั่น และกลุ่มอิทธพลท้องถิ่นที่มุ่งกำจัดคู่แข่งทางการเมืองด้วยความรุนแรง ด้วยความย้อนแย้งดังกล่าว จึงเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิจัยท่านนี้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่ออธิบายถึงการดำรงอยู่ของประชาธิปไตยฟิลิปปินส์
นักวิจัยได้เสนอว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาและทำความเข้าใจการเมืองฟิลิปปินส์ ซึ่งสามารถอธิบายได้ออกเป็น 3 แนวคิด ได้แก่ 1.แนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างระบบอุปถัมภ์ที่รับมาจากสมัยที่สเปนเป็นเจ้าอาณานิคม และแนวคิดเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตยจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทนที่อำนาจสเปน 2.แนวคิดเกี่ยวกับบารมีของผู้นำท้องถิ่นที่ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน และผูกขาดอำนาจทางการเมืองในเขตอิทธิพลของตน นำไปสู่การได้รับเลือกตั้งในหลายสมัย และ 3.การเมืองเป็นพื้นที่สำหรับชนชั้นนำในการแย่งชิงอำนาจในการบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเสนอว่ายังมีปัจจัยประการอื่นอีกเช่น ความสามารถและผลงานของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ ในชนชั้นนำและประชาชน ที่จะสามารถอธิบายและทำความเข้าใจประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ได้
- การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย: การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งท้องถิ่นและธุรกิจการเมือง โดย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล
สำหรับข้อเสนอโครงการวิจัยชิ้นที่ 2 โดย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล จะเป็นการวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย โดยมุ่งเน้นศึกษาเรื่องการกระจายอำนาจ วัฒนธรรมทางการเมืองและธุรกิจการเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศ
ผศ.ดร.อรอนงค์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการวิจัยนี้ว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่สุดเอเชียตะวันออกเฉียง ถึงแม้ว่าจะเคยมีการปกครองโดยระบอบอำนาจนิยมมายาวนานตั้งแต่สมัยได้รับเอกราช คือภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีซูการ์โน ถึงแม้ว่าจะมาจากเลือกตั้ง แต่เนื่องจากสภาวะทางการเมืองภายในในขณะนั้นมีความแตกแยกสูง ทำให้มีการประกาศใช้นโยบายประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) ซึ่งมีลักษณะค่อนไปทางกึ่งอำนาจนิยม อินโดนีเซียกลายรัฐอำนาจนิยมอย่างเต็มรูปแบบในสมัยของประธานาธิบดีซูฮาร์โตผู้สืบทอดอำนาจต่อจากประธานาธิบดีซูการ์โน อย่างไรก็ตาม การปกครองระบอบอำนาจนิยมในได้สิ้นสุดลงในปี 2540 อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกในปี 2540 ส่งผลให้อินโดนีเซียเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และการปฏิรูปทางการเมืองภายใต้รัฐบาลของนายฮาบีบี
มีผลงานทางวิชาการมากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ซึ่ง ผศ.ดร.อรอนงค์ ได้แบ่งออก 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มศึกษาการปฏิรูปและแนวโน้มการเลือกตั้ง ซึ่งเสนอว่าการแป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้นของอินโดนีเซีย เป็นผลมาจากการปฏิรูปอย่างครอบคลุมทั้งด้านกฎหมายและสถาบันทางการเมือง 2.กลุ่มศึกษาด้านสื่อกับวัฒนธรรมการเลือกตั้งโดยมุ่งเน้นการศึกษาสื่อดิจิทัลที่ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองรูปแบบใหม่ เนื่องจากสื่อดิจิทัลนั้นเป็นพื้นที่เสรีที่ผู้ใช้งานสามารถนำเสนอข้อมูลต่างๆ ได้ รวมไปถึงการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง
ถึงแม้ว่ามีผลงานทางวิชาการที่ศึกษาการเกี่ยวกับผลกระทบของการปฏิรูปและสื่อดิจิทัลต่อระบอบประชาธิปไตยอินโดนีเซียเป็นจำนวนมากซึ่งนักวิจัยสามารถนำไปต่อยอดได้ แต่ยังขาดผลงานทางวิชาที่ศึกษาความสัมพันธ์และผลกระทบต่อประชาธิปไตยของธุรกิจการเมืองในการเลืกตั้งท้องถิ่น ดังนั้น ผศ.ดร.อรอนงค์ จึงเสนอว่า นอกจากจะศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองแล้ว โครงการวิจัยนี้ยังจะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับธุรกิจการเมือง รวมถึงผลกระทบตลอดจนเสนอวิธีแก้ไขปัญหาอีกด้วย
ในกรณีศึกษานี้ นักวิจัยเลือกใช้กรอบแนวคิดธุรกิจการเมืองในการอธิบายวัฒนธรรมทางการเมืองและผลกระทบต่อประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย
- การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาธิปไตยในเกาหลีใต้: ตัวแสดง สถาบันการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน–ทหาร โดย ผศ.ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์
โครงการวิจัยชิ้นที่ 3 โดย ผศ.ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ จะมุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้มั่นคงและยั่งยืน
นักวิจัยได้เสนอความสำคัญของโครงการวิจัยนี้ว่า ประเทศเกาหลีใต้มีบริบททางการเมืองที่คล้ายคลึงกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือประเทศเหล่านี้ในอดีตเคยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบอำนาจนิยม แต่เกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะสามารถเป็นกรณีศึกษาให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ประเทศเกาหลีใต้ในอดีตนั้นถูกปกครองภายระบอบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน แต่ภายหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2530 ประชาธิปไตยเกาหลีมีความมั่นคงและยั่งยืนมาโดยตลอดถึงแม้ว่าจะมีการเผชิญต่อความท้าทายนานัปการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง เกาหลีใต้ก็ไม่เคยหวนกลับไปสู่การรัฐประหารหรือระบอบเผด็จการทหารอึกเลย
มีผลงานทางวิชามากมายที่ศึกษาเรื่องความมั่นคงและยั่งยืนของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ซึ่งนักวิจัยท่านนี้กล่าวว่ายังเป็นประเด็นถกเถียงและสามารถศึกษาได้จากหลายมุมมอง
มุมมองแรกเน้นการศึกษาถึงนิยามและการประเมินความมั่นคงของประชาธิไตย แต่นักวิจัยท่านนี้กล่าวว่า กลุ่มแนวศึกษานี้สะท้อนถึงความท้าทายในการสร้างประชาธิไตย แต่มิได้สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่จะทำให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคงและยั่งยืน
มุมมองที่สองเน้นการศึกษาบทบาทของภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวทางการเมือง อย่างไรก็ตาม นักวิจัยท่านนี้เห็นว่ายังมีตัวแสดงอื่นๆ ในสังคมที่ทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนเช่นกัน ดังนั้น โครงการวิจัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยในเกาหลีใต้นี้จะมุ่งศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากและปฏิสัมพันธ์ต่อตัวแสดงต่างๆ ในสังคมอันจะส่งผลการพัฒนาทางประชาธิปไตยในเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม การที่พลเรือนจะขึ้นมาควบคุมกองทัพได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ เช่น ความสำนึกถึงความเป็นมืออาชีพของทหาร พลเรือนที่เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงหรือการระหว่างประเทศ การยอมรับในวัฒนธรรมภายในกองทัพ และการเปลี่ยนโครงสร้างเชิงสถาบันโดยพลเรือนมีอำนาจในการตัดสินใจในกิจการความมั่นคง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การแบ่งพรรคพวกภายในกองทัพทำให้กองทัพขาดเอกภาพซึ่งจะลดความเป็นไปได้ที่กองทัพจะทำการยึดอำนาจเนื่องจากจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ และภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวทางการเมืองซึ่งหนุนให้รัฐบาลปฏิรูปนโยบายด้านความมั่นคง หรือทำให้การแทรกแซงโดยกองทัพไร้ความชอบธรรมเนื่องจากอาจจะเกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน
ข้อเสนอแนะงานวิจัยจากผู้ทรงคุณวุฒิ
หลังจากที่นักวิจัยทั้ง 3 ท่านนำเสนอโครงการวิจัยทั้งสามเรียบร้อยแล้ว ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการและหัวข้อการวิจัย
ผู้ทรงคุณวุฒิท่านแรกคือ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ให้การชื่นชมต่อโครงการวิจัยนี้ว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองในเอเชียที่ทันสมัยในไทยเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นแนวการศึกษาประชาธิปไตยในระยะยาวเนื่องจากในปัจจุบันมีวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ รศ.ดร.ประจักษ์ ก็ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการในภาพรวมว่า สามกรณีนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องของประเด็นที่จะทำการศึกษาคือ การเปลี่ยนผ่าน ความยั่งยืน และคุณภาพของประชาธิปไตย ทำให้ขาดโจทย์การวิจัยและกรอบแนววิเคราะห์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันส่งผลให้โครงการวิจัยนี้ขาดเอกภาพ ในส่วนของการวิจัยในแต่ละกรณีนั้น รศ.ดร.ประจักษ์ ได้เสนอให้มีการทบทวนผลงานทางวิชาการที่เขียนโดยนักวิชาการในประเทศนั้นๆ ด้วย เพื่อให้การวิจัยนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น นอกจากนี้ รศ.ดร.ประจักษ์ ยังได้เสนอให้มีการสังเคราะห์เนื้อหาจากทั้งสามกรณีศึกษาเพื่อให้เป็นแนวทางในการต่อยอดการวิจัยทางด้านประชาธิปไตยต่อไป
ผู้ทรงคุณวุฒิท่านที่สองคือ ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ ม่านศรีสุข ได้ให้ข้อเสนอไปในทิศทางเดียวกันกับ รศ.ดร.ประจักษ์ ในแง่ที่ว่าหัวข้อการวิจัยทั้งสามนั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องของประเด็นที่จะศึกษาทำให้โครงการวิจัยขาดความเป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ เสนอว่าถึงว่าประเด็นศึกษาจะต่างกันแต่เรื่องของการเปลี่ยนผ่านและการสร้างความยั่งยืนนั้นส่งผลซึ่งกันและกัน ดังนั้นการศึกษาของความสัมพันธ์ระหว่างสองกระบวนการนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ในส่วนของหัวข้อการวิจัยของกรณีศึกษา รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ให้ข้อเสนอต่อกรณีศึกษาอินโดนีเซียว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศขนาดใหญ่อาจส่งผลให้งานวิจัยไม่สามารถอธิบายถึงลักษณะโดยทั่ว (generalization) ของการเมืองอินโดนีเซียได้ ดังนั้น จึงมีการเสนอให้นักวิจัยทำการศึกษาผลกระทบของความแตกต่างทางวัฒนธรรมต่อการก่อตัวของวัฒนธรรมทางการเมืองในอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยให้งานวิจัยสามารถอธิบายการเมืองอินโดนีเซียในภาพรวมได้
ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งคือ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประชาธิปไตยและอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ให้ข้อเสนอตามมาต่อหัวข้อการวิจัยทั้งสามกรณีศึกษาดังนี้
สำหรับกรณีศึกษาประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ รศ.ดร.สิริพรรณให้ความเห็นว่า นักวิจัยควรมองอีกมุมหนึ่งของประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ด้วย เพื่อที่จะทำให้เห็นภาพรวมของระดับประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ได้ดียิ่งขึ้น รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีการปกครองในระบอบนี้มาอย่างยาวนานและไม่เคยเปลี่ยนระบอบการปกครอง ก็มีปัจจัยต่างๆ ที่ท้าทายต่อประชาธิปไตยในประเทศ เช่น การทำสงครามยาเสพติด แนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง และการผูกขาดทางการเมืองโดยระบบเครือญาติ ซึ่งย้อนแย้งต่อค่านิยมประชาธิปไตย นอกจากนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยมีคำถามที่กว้างเกินไปอาจส่งผลให้เกิดปัญหาระหว่างการเก็บข้อมูล และแนะนำให้ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการเมืองฟิลิปปินส์เพื่อให้เข้าใจบริบทของประเทศมากขึ้น
ในส่วนของกรณีศึกษาประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ผู้ทรงคุณวุฒิได้แนะนำให้มีการทบทวนวรรณกรรมเชิงทฤษฎีเพิ่มในเรื่องของการกระจายอำนาจ การเลือกตั้งท้องถิ่น และธุรกิจการเมือง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ข้อเสนอการวิจัยกล่าวถึงเรื่องนี้ยังไม่ลึกเท่าที่ควรและมิได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ของทั้งประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ข้อเสนอโครงการวิจัยมิได้มีการเจาะจงท้องถิ่นหรือภูมิภาคที่จะทำการศึกษา ทำให้โครงการวิจัยขาดความชัดเจน ผู้ทรงคุณวุฒิยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นศาสนากำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในอินโดนีเซีย จึงแนะนำให้นักวิจัยศึกษาประเด็นทางศาสนาเพิ่มเติมเช่นกัน
สำหรับกรณีศึกษาประชาธิปไตยในเกาหลีใต้นั้น ผู้ทรงคุณวุฒิกล่าวว่ามีความน่าสนใจมากเนื่องจากข้อเสนอโครงการมีความชัดเจน และประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ทหาร–พลเรือน ก็สามารถสะท้อนภาพการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี แต่ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า นักวิจัยควรระบุเจาะจงตัวแสดงทางการเมืองในเกาหลีใต้ และคำจำกัดความของ “บทบาทของภาคประชาสังคม” ให้ชัดเจน และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มประชาสังคมในช่วงกรอบเวลาที่จะทำการวิจัย และในช่วงเวลาปัจจุบันว่ามีพลวัตอย่างไร ซึ่งจะทำให้โครงงานวิจัยมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น