ญาณิศา พลายชุม
ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch)
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
ท่ามกลางทิศทางและความตื่นตัวของประชาคมโลกในปัจจุบันต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ
ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และศาสนา การประกาศบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ของบรูไนในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างมากทั้งในอาเซียนและทั่วโลกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในบรูไน ซึ่งต่างแสดงการคัดค้านเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีมาตรการลงโทษที่รุนแรงและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดซึ่งเป็นจำนวนกว่า 400 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของประชากรทั้งหมด และคิดสัดส่วนเป็นกว่า 15% ของประชากรมุสลิมทั่วโลก โดยระบบการบังคับใช้กฎหมายอิสลามในอาเซียนสามารถอธิบายได้ทั่วไปเป็น 2 รูปแบบ คือ
(1) การใช้กฎหมายชารีอะห์มาบังคับใช้แบบจำกัด ควบคู่กับการใช้ระบบกฎหมายโดยทั่วไปแบบไม่อิงหลักศาสนา ซึ่งพบในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เช่น การบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์เฉพาะกับความผิดเกี่ยวกับการสมรสและมรดก หรือเฉพาะพื้นที่ หรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น ซึ่งการตีความ ตลอดจนการพิจารณากำหนดโทษของกฎหมาย มีลักษณะที่เหมาะสมและแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของอินโดนีเซียที่มีการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์เฉพาะในพื้นที่จังหวัดอาเจะห์เพียงแห่งเดียวในประเทศ หรืออย่างกรณีของไทย ที่แม้จะมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 5% ของประชากร แต่ก็มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นกฎหมายอิสลามที่บังคับใช้ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ และใช้บังคับในกรณีการพิจารณาคดีความว่าด้วยครอบครัวและมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลามเฉพาะกรณีคดีทางแพ่งเท่านั้น โดยในกระบวนการพิจารณาคดี ดะโต๊ะยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสินความร่วมกับผู้พิพากษา และเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในข้อกฎหมายอิสลามดังกล่าว
(2) การใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างเต็มรูป อย่างกรณีของบรูไน ที่มีการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์มาตั้งแต่ในปี 2533 ซึ่งมีการห้ามชาวมุสลิมขายและบริโภคแอลกอฮอล์ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยครอบครัวซึ่งใช้การพิจารณาคดีโดยศาลชารีอะห์มาตั้งแต่ช่วงปี 2542 กฎหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบรูไน เพียงแต่ไม่ได้มีลักษณะบังคับใช้เต็มรูปแบบอย่างที่ปรากฏในปัจจุบันเท่านั้น บรูไนจึงถือเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในอาเซียนที่ใช้ประมวลกฎหมายอาญาอิสลาม (Syariah Penal Code) และมีสภาพบังคับใช้กับทุกคนที่อยู่ในอาณาเขตของบรูไน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ นักท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางมายังประเทศบรูไนในทุกกรณี รวมไปถึงประชากรชาวบรูไนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามด้วย โดยบทกำหนดโทษขึ้นอยู่กับความผิดที่กระทำ โดยมีโทษตั้งแต่การปรับ จำคุก เฆี่ยนตี ตัดมือหรือเท้า การประหารชีวิตด้วยการขว้างปาหินใส่ผู้กระทำผิดและการแขวนคอ ซึ่งเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมระหว่างประเทศในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
หลังบรูไนประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ฉบับใหม่นี้ในวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์ว่าบรูไนกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ผ่านการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว องค์กรภาคประชาสังคมในอาเซียน ได้ออกแถลงการณ์ว่าเป็นการทำผิดต่อหลักการที่บรูไนได้ลงนามและให้สัตยาบันไว้ ทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) รวมไปถึงปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคอาเซียน (AHRD) ขณะเดียวกันองค์การนิรโทษกรรมสากลก็ได้ประณามแผนการดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันและผู้กระทำผิดฐานลักขโมย
ล่าสุดสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านแห่งบรูไน ทรงมีพระราชดำรัสให้ระงับการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในกฎหมายชารีอะห์ฉบับดังกล่าวไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงพลังของการเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งในและนอกภูมิภาคที่มีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ในการรณรงค์กดดันให้รัฐบาลสมาชิกอาเซียนตระหนักถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภูมิภาค เห็นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ชาวโรฮิงญาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่อาเซียนก็ไม่เคยแสดงบทบาทที่ชัดเจนเพื่อเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกออกมาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่น่าสนใจว่าอาเซียนจะจัดการบทบาทของตนเองอย่างไร ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวของประเด็นสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันที่ถูกเร้าด้วยการปฏิวัติของยุคข้อมูลข่าวสาร และกำลังท้าทายให้อาเซียนปรับปรุงหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในชาติสมาชิกซึ่งเป็นวิถีของอาเซียนมาโดยตลอด
เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562