home

ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน 2019

มิถุนายน 20, 2019
ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน 2019

วรรณวัฒน์ เอมอ่อง

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1 สกว.

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมหารือและผลักดันความร่วมมือของภูมิภาคในหลายเวทีแล้ว

ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) สะท้อนวิสัยทัศน์ในการประสานความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกและคู่เจรจา เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยมีข้อเสนอและกรอบความร่วมมือที่น่าติดตามดังนี้

ในด้านเสาเศรษฐกิจ “การปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิทัล” หรือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0″ จะเป็นแกนกลางของความร่วมมืออาเซียนในอนาคต ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งเห็นชอบที่จะเร่งรัดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 3 ด้านให้สัมฤทธิ์ผล ได้แก่ (1) ความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 (2) ความเชื่อมโยงเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าของชาติสมาชิก ด้วยระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) รวมถึง “ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และ (3) ความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืน และการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัย และการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เป็นต้น

ในขณะที่การประชุมรัฐมนตรีการคลังและผู้ว่าการธนาคารอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีความตกลงร่วมที่จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ATIG e-Form D) ผ่านระบบ ASEAN Single Window ครบทั้ง 10 ประเทศภายในปีนี้ และได้มีการตกลงที่จะเปิดเสรีทางการค้า การบริการทางการเงิน และส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น รวมถึงรับรองคู่มือกฎระเบียบการประกันภัยการขนส่งทางทะเล ทางอากาศและสินค้าผ่านแดน อันจะส่งเสริมการค้าเสรีและการไหลเวียนของทุนในอาเซียนด้วย

เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปดังเช่นการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ข้างต้น ก็ส่งผลกระทบต่ออาเซียนในเชิงสังคมและวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลอย่างไม่เป็นทางการ เพี่อหารือในเรื่องของการปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมต่อสถานการณ์ในภูมิภาคที่เปลี่ยนไป เช่น ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cybersecurity) การพัฒนาบุคลากรและการออกกฎหมายด้านดิจิทัล และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมเห็นควรให้มีการขยายขอบเขตและหน้าที่ของสภาปฏิบัติการอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยบนเครือข่าย (ASEAN Network Security Action Council: ANSAC) ในการประสานงานและเพิ่มพูนความปลอดภัยทางไซเบอร์กับหน่วยงานต่างๆในภูมิภาคอันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายดิจิทัลที่เข้มแข็งในอาเซียน

ในด้านความมั่นคง กระทรวงกลาโหมผลักดันแนวคิด “ความมั่นคงที่ยั่งยืน” (Sustainable Security) ในการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุดอาเซียนครั้งที่ 16 และการประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของภูมิภาคให้ดำเนินไปอย่างยั่งยืน ที่ประชุมได้หารือกรอบความร่วมมือของฝ่ายทหาร อาทิ การสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดน การสร้างความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามในภูมิภาค และการแก้ไขการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, unreported and unregulated fishing: IUU) และเสนอให้มีการประชุมไซเบอร์กองทัพอาเซียนอีกด้วย อันสะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามในยุคดิจิทัล

การประสานความร่วมมือภายใต้ความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีที่รุดหน้ากับความยั่งยืน เริ่มปรากฏเป็นความร่วมมือในเชิง “เทคนิค” ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีไทยยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องผลักดันข้อเสนอต่างๆ พร้อมกับวาระภูมิภาคที่สำคัญๆ ต่อไปในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ยังมีความท้าทายที่ไทยและอาเซียนต้องร่วมหารือและผลักดัน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายในการส่งเสริมการค้าเสรี กระนั้นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุดซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในรัฐยะไข่ของเมียนมา ซึ่งอาเซียนก็ได้มีการหารือในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วนคือปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาหมอกควันพิษซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชากรอาเซียนเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าอาเซียนจะมีความตกลงว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ในปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพของอาเซียนในการจัดการปัญหาข้ามชาติ

เผยแพร่ครั้งแรกในเว็ปไซต์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562

 

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน