home

The Anti-Chinese Riots in Vietnam: Responses from the Ground

มิถุนายน 1, 2014
The Anti-Chinese Riots in Vietnam: Responses from the Ground

การจลาจลต่อต้านจีนในเวียดนาม: การตอบโต้จากฐานราก*
(The Anti-Chinese Riots in Vietnam: Responses from the Ground)
หวง เหล่อ ทู

แปลและเรียบเรียง โดย
ภาคิน นิมมานนรวงศ์

ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม ลงเอยด้วยการสร้างความเสียหายให้กับโรงงานของบริษัทจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ในจังหวัดบินห์ เดือง (Binh Duong) ดอง ใน (Dong Nai) และฮา ตินห์ (Ha Tinh) สื่อมวลชนนานาชาติต่างประโคมข่าวโจมตีการจลาจลครั้งนี้ และชี้ให้เห็นถึงวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ของเวียดนาม ขณะที่สื่อจีนโจมตีเวียดนามว่าเป็นผู้ก่อปัญหา สื่อกระแสหลักนำเสนอภาพความรุนแรงของแรงงานชาวเวียดนาม และละเลยการกระทำของจีนที่รุกล้ำเข้ามาตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมัน HD 981 ในพื้นที่พิพาทระหว่างทั้งสองประเทศโดยไม่ใยดีต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศ แม้ปราศจากหลักฐานที่ชี้ชัดว่าใครกันแน่เป็นผู้ปลุกระดมการประท้วง ทว่ากระแสชาตินิยม การหวาดกลัวเพื่อนบ้าน และความโกรธเกรี้ยวของแรงงานชาวเวียดนามที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้กลายเป็นประเด็นที่สื่อหลายสำนักนำเสนอว่า เป็นหัวใจของความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายดังกล่าวไม่ค่อยยุติธรรมและไม่ครบถ้วนนัก หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การจลาจลได้มุ่งเป้าไปยังโรงงานของหลายประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของจีนในทะเลจีนใต้ อีกทั้ง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ต่างก็เป็นประเทศผู้ลงทุนในเวียดนามในลำดับต้น ๆ ซึ่งชาวเวียดนามมีความเคารพและชื่นชมประเทศเหล่านี้ จึงทำให้ไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่นัก กับคำอธิบายที่ว่า ผู้ประท้วงชาวเวียดนามเข้าใจผิดคิดว่าคน ทรัพย์สิน และธงชาติของประเทศเหล่านี้เป็นของชาวจีน จริงอยู่ที่กระแสการประท้วงถูกปลุกเร้าด้วยความรู้สึกชาตินิยมและการยั่วยุจากจีน ทว่าชาตินิยมเพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่เพียงพอต่อความทำเข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าว

นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม เมื่อบริษัทน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติจีน (China National Offshore Oil Corporation หรือ CNOOC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลจีน เข้ามาตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในบริเวณทางตอนใต้ของหมู่เกาะพาราเซล ดินแดนที่ยังเป็นข้อพิพาทด้านอธิปไตยระหว่างจีนกับเวียดนาม ไม่กี่วันหลังจากนั้น ภาคประชาสังคมของเวียดนามก็ได้รวมตัวต่อต้านการกระทำดังกล่าว ด้วยเป้าหมาย 3 ประการ คือ (1) ต่อต้านการที่จีนรุกล้ำอธิปไตยของเวียดนาม (2) เรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามมีมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสและ (3) เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวบล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่ถูกจับตัว ก่อนเกิดข้อพิพาทดังกล่าว

การประท้วงอย่างสันติเกิดขึ้นก่อนในวันที่ 11 พฤษภาคม กระนั้น อีกสองวันต่อมา ความรุนแรงที่ติดตามมาด้วยการต่อต้านชาวจีน ก็ปะทุขึ้นในหลายจังหวัดทางตอนใต้ของประเทศ เช่น บินห์ เดือง และ ดอง ใน ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานของบริษัทต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน และสิงคโปร์ สำนักข่าวต่าง ๆ รายงานว่า ผู้ก่อจลาจลคือบรรดาแรงงานในโรงงานเหล่านั้นเอง ผลทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โรงงานต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย ชาวจีนและไต้หวันเดินทางออกจากเวียดนาม กระนั้น ที่น่าสนใจก็คือ การจลาจลครั้งนี้ไม่มีการนัดหมายอย่างเป็นทางการเหมือนการประท้วงอย่างสันติเมื่อไม่กี่วันก่อน

ความรู้สึกต่อต้านจีนนั้นไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจการจลาจลครั้งนี้ เพราะอันที่จริงแล้ว ชาวเวียดนามจำนวนมากตระหนักดีถึงความจำเป็นในการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจกับจีน หลายคนออกมาประท้วงต่อต้านความรุนแรงจากการจลาจล แรงงานจำนวนหนึ่งรวมตัวกันปกป้องโรงงานของตัวเอง เพราะรับรู้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะสร้างผลกระทบให้กับชีวิตของพวกเขา รัฐบาลเวียดนามพยายามตอบโต้กับการจลาจลดังกล่าว ด้วยการเรียกร้องให้ชาวเวียดนามนึกถึงชาติบ้านเมือง และไม่ปฏิบัติตามคำยุยงส่งเสริมให้ก่อความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี รัฐบาลเองได้สูญเสียความเชื่อถือจากประชาชนไปมาก หลังการพยายามแทรกแซงสื่อกระแสหลักต่าง ๆ จนทำให้การเขียนบล็อกในโลกออนไลน์ กลายเป็นเพียงไม่กี่ช่องทางในการกระจายข้อมูลข่าวสารระหว่างประชาชนด้วยกันเอง  อย่างไรก็ดี ข้อมูลข่าวสารที่ส่งผ่านกันในบล็อก เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและการคาดการณ์ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในการเข้าควบคุมการประท้วงอย่างสันติไม่กี่วันก่อนหน้านั้น บางคนยังเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นแผนการของรัฐบาลที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่เลวร้ายให้กับมวลชน และรวบอำนาจไว้ในกำมือของตัวเองอย่างเบ็ดเสร็จ ทว่าปัจจัยสำคัญที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในการวิเคราะห์ต่าง ๆ ก็คือ ต้นทุนของการกระทำที่ว่านั้นสูงกว่าที่ใครจะยอมเสี่ยงง่าย ๆ

หลังการจลาจลทางตอนใต้ของประเทศเกิดขึ้น นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามที่ออกมาประท้วงจีนอย่างสันติในช่วงแรก ต่างเดินทางลงพื้นที่เพื่อไปเรียกร้องให้เกิดการประท้วงโดยสันติ และยุติความรุนแรงทุกประเภท สิ่งที่พวกเขาพบจากการสอบถามพูดคุยกับคนในพื้นที่ คือข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มคนที่ปลุกระดมการจลาจลไม่ใช่ “แรงงาน” อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ กลับกัน ดูเหมือนคนเหล่านี้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความพร้อม และมีการเตรียมการเพื่อใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ยิ่งกว่านั้น การสอบสวนผู้ปลุกระดมที่ถูกจับกุมได้บางคน ยังนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกันที่ว่า พวกเขาถูกจ้างวานมาให้เตรียมการประท้วงโดยใช้ความรุนแรง ธงชาติและเสื้อที่มีลายธงชาติถูกซื้อเตรียมไว้แล้ว แผนที่ที่ระบุที่ตั้งของโรงงานจีนและไต้หวันได้รับการสำเนาแจกจ่าย ผู้นำการจลาจลใช้วิทยุติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ขณะที่ความเสียหายของโรงงาน 200 แห่งในวันเดียว ก็ชี้ให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่การจลาจลของคนงานที่มีเลือดรักชาติอย่างแรงกล้าธรรมดา ๆ และแม้จะไม่ได้มีการนัดหมายอย่างเป็นทางการเหมือนการประท้วงอย่างสันติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม แต่การจลาจลเหล่านี้ก็ได้รับการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว คำถามก็คือ ใครคือผู้สนับสนุน

จีนใช้โอกาสนี้โจมตีเวียดนาม และสร้างภาพลักษณ์ว่าเวียดนามเป็นประเทศที่น่าหวาดกลัวและไม่มีความปลอดภัย อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติ สื่อต่างชาติรับลูกกันอย่างรวดเร็ว เริ่มจากรอยเตอร์ (Reuters) ที่รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 21 คน ทั้งที่ความจริง รายงานของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 2 คนเท่านั้น หนังสือพิมพ์สเตรทส์ ไทม์ (Straits times) ตีพิมพ์ภาพถ่ายของผู้ได้รับบาดเจ็บที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล ก่อนที่ไม่กี่วันต่อมา พวกเขาจะลงข่าวขอโทษ เนื่องจากภาพดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จลาจลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็คือ ความเชื่อมั่นในระดับชาติและนานาชาติที่มีต่อเวียดนามได้ลดน้อยถอยลง และทำให้เวียดนามอยู่ในสภาวะที่เปราะบางอย่างยิ่ง

ในขณะที่ภาพของกองทัพจีนบริเวณชายแดนเวียดนามไม่ค่อยปรากฏในสื่อมวลชนนานาชาติ ภาพเรือสัญชาติจีนที่รุกล้ำมายังดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้ก็ถูกแทนที่ด้วยภาพเรือของจีนที่เข้ามารับชาวจีนที่ต้องการอพยพออกจากประเทศเวียดนาม คำถามที่ตามมาก็คือ ชาวจีนเหล่านี้ได้ให้การใด ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงงาน ก่อนที่พวกเขาจะถูกพากลับประเทศหรือไม่ และเหตุใดพวกเขาจึงอพยพกลับไป หลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้สงบลงแล้วถึงหนึ่งสัปดาห์ หากดูจากจำนวนการประท้วงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับโรงงานของชาวจีนในแต่ละปี การอพยพคนออกจากเวียดนาม โดยเฉพาะจากพื้นที่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจลาจลเลยนั้น เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง ตามรายงานพบว่า ในจำนวนโรงงาน 351 แห่งที่ได้รับความเสียหาย มีเพียง 14 แห่งที่เป็นโรงงานของชาวจีน ขณะที่ 190 แห่งเป็นของไต้หวัน 19 แห่งเป็นของเกาหลีใต้ และอีก 27 แห่ง เป็นโรงงานของชาวเวียดนามเอง ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ไม่มีนักลงทุนจากประเทศใด ที่อพยพออกจากเวียดนาม นอกจากชาวจีน

ความจริงเบื้องหลังการจลาจลยังคงไม่ได้รับการเปิดเผย อย่างไรก็ดี คำอธิบายว่าการจลาจลเกิดจากกระแสคลั่งชาติและการต่อต้านจีนอย่างสุดโต่งจำเป็นต้องได้รับการทบทวนอีกครั้ง วิกฤตการณ์ครั้งนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีน เสถียรภาพระหว่างภูมิภาค และความเป็นเอกภาพของอาเซียนเท่านั้น ทว่ายังได้สั่นคลอนระบอบการเมืองของเวียดนามอย่างถึงที่สุดอีกด้วย

*แปลและเรียบเรียงจาก Huong Le Thu, “The Anti-Chinese Riots in Vietnam: Responses from the Ground”, ISEAS Perspectives (27 May 2014)

Leave A Response

หมวดหมู่

'; collapsItems['collapsCat-51:3'] = '
    '; collapsItems['collapsCat-52:3'] = '
      '; collapsItems['collapsCat-85:3'] = '
        '; collapsItems['collapsCat-86:3'] = '
          '; collapsItems['collapsCat-87:3'] = '
            '; collapsItems['collapsCat-88:3'] = '
              '; collapsItems['collapsCat-94:3'] = '
                '; collapsItems['collapsCat-3:3'] = ''; collapsItems['collapsCat-25:3'] = '
                  '; collapsItems['collapsCat-33:3'] = '
                    '; collapsItems['collapsCat-34:3'] = '
                      '; collapsItems['collapsCat-35:3'] = '
                        '; collapsItems['collapsCat-36:3'] = '
                          '; collapsItems['collapsCat-37:3'] = '
                            '; collapsItems['collapsCat-38:3'] = '
                              '; collapsItems['collapsCat-39:3'] = '
                                '; collapsItems['collapsCat-40:3'] = '
                                  '; collapsItems['collapsCat-41:3'] = '
                                    '; collapsItems['collapsCat-42:3'] = '
                                      '; collapsItems['collapsCat-31:3'] = ''; collapsItems['collapsCat-29:3'] = '
                                        '; collapsItems['collapsCat-30:3'] = '
                                          '; collapsItems['collapsCat-48:3'] = '
                                            '; collapsItems['collapsCat-76:3'] = '
                                              '; collapsItems['collapsCat-32:3'] = ''; collapsItems['collapsCat-45:3'] = '
                                                '; collapsItems['collapsCat-46:3'] = '
                                                  '; collapsItems['collapsCat-47:3'] = '
                                                    '; collapsItems['collapsCat-43:3'] = ''; collapsItems['collapsCat-49:3'] = '
                                                      '; /* Collapse Functions, version 2.0 * *--------------------------------------------------------------------------*/ String.prototype.trim = function() { return this.replace(/^\s+|\s+$/g,""); } function createCookie(name,value,days) { if (days) { var date = new Date(); date.setTime(date.getTime()+(days*24*60*60*1000)); var expires = "; expires="+date.toGMTString(); } else { var expires = ""; } document.cookie = name+"="+value+expires+"; path=/"; } function readCookie(name) { var nameEQ = name + "="; var ca = document.cookie.split(';'); for(var i=0;i ', 'collapse', 0)// ]]>

                                                      คลังข้อมูล

                                                      พบกับเราที่ Facebook

                                                      Tweets ล่าสุด

                                                      ประชุมคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติอาเซียน ครั้งที่ 22 ประกาศรื้อการประชุมระดับรัฐมนตรี (AMMDM… http://t.co/WmWTAcz3Zb

                                                      อินโดนีเซีย (5-11 มิ.ย. 56): หน่วยต้านก่อการร้ายอินโดนีเซียถูกวิจารณ์ ทำเกินกว่าเหตุ หน่วยงาน… http://t.co/lapRxcLYyh

                                                      สิงคโปร์ (5-11 มิ.ย. 56): ชาวสิงคโปร์ประท้วงกฎหมายควบคุมเน็ต ชาวสิงคโปร์หลายร้อยคน รวมตัวกัน… http://t.co/txPGxhXgGd

                                                      ชาวสิงคโปร์ประท้วงกฎหมายควบคุมเน็ต: ชาวสิงคโปร์หลายร้อยคน รวมตัวกันประท้วงกฎหมายใหม่ของรัฐบาล… http://t.co/6ucq2Bwvs2

                                                      แผนที่อาเซียน