home

เมียนมาร์หลังเลือกตั้ง 2015: ความหวังและความจริงอันเปราะบาง

พฤศจิกายน 13, 2015
เมียนมาร์หลังเลือกตั้ง 2015: ความหวังและความจริงอันเปราะบาง

เมียนมาร์หลังเลือกตั้ง 2015: ความหวังและความจริงอันเปราะบาง
โดย อ.ดร.มล. พินิตพันธุ์ บริพัตร*
ผู้ประสานงานร่วมโครงการ “จับตาอาเซียน”

การเลือกตั้งในเมียนมาร์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดำเนินไปพร้อมกับความคาดหวังหลายประการ อาทิ หวังว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่อิสระ เสรี และยุติธรรม ไม่มีความรุนแรง และดำเนินไปอย่างเรียบร้อย หวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และการที่กองทัพจะถอยห่างออกจากการเมือง แต่เชื่อว่าความหวังอันสูงสุดของคนจำนวนมาก คือ การเห็นชัยชนะของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และมีความชอบธรรม หลังจากที่ถูกยึดไปในปี 2533

กระนั้นก็ตาม ความหวังอันสูงสุดนี้ อาจกลายเป็นความจริงอันเปราะบาง สำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ประการแรก หากพรรค NLD ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล ก็มีแนวโน้มจะเป็นการบริหารประเทศบนความไร้ประสบการณ์ แม้จะเป็นความจริงที่ยากจะยอมรับ แต่คณะทหารซึ่งแปรเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือนในปัจจุบัน นับว่ามีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาหลายทศวรรษ

แม้รัฐบาลทหารจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความรู้และความสามารถในการบริหารราชการ แต่นัยสำคัญอยู่ที่รัฐบาลทหาร และกองทัพมีความคุ้นเคยกับระบบราชการมากกว่า

การเปลี่ยนผู้บริหารประเทศไปสู่มือของพรรค NLD จึงเป็นความเปราะบางเชิงการบริหารที่น่ากังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนที่เปิดกว้างมากขึ้น

อีกทั้งยังต้องตอบสนองต่อความคาดหวังของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเคลื่อนย้ายการลงทุนสู่เมียนมาร์อย่างมหาศาล ตลอดจนตอบสนองต่อกระแสการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ที่จะต้องรองรับพื้นที่และความเห็นของคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ประการที่สอง หากพรรค NLD ได้รับชัยชนะ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า นางออง ซาน ซูจี จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องมาจากข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามผู้ที่สมรสกับชาวต่างชาติดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

คำถามที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เพียงแค่ “แล้วใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำเมียนมา หากพรรค NLD ชนะ?” แต่จะเป็นประเด็นที่ว่า ผู้ที่พรรค NLD นำเสนอให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะมี “บารมี” เทียบชั้นนางซูจี ผู้ถือได้ว่าเป็น “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ของพรรค NLD และของพลังการต่อสู่เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาได้หรือไม่?

หรือใครจะมีความสามารถและเหมาะสม ต่อการประนีประนอมในการเปลี่ยนผ่านนี้?

ประเด็นนี้มิจำกัดเพียงในบริบทการประนีประนอมระหว่างพรรค NLD กับ คณะทหาร พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) และกลุ่มการเมืองชาติพันธุ์ต่างๆ เท่านั้น หากแต่ต้องดูบริบทภายในของพรรค NLD ด้วย

ช่วงหลังมานี้ มีการรายงานถึงแรงกระเพื่อมภายในพรรคพอสมควร โจทย์นี้ยากและท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพรรคการเมืองในเมียนมาร์ยังห่างไกลต่อความเป็นสถาบัน

การเชิดชูผู้นำ และการเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของการกู้ชาติ ของนายพลออง ซาน ตลอดจนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำให้พรรค NLD ผูกติดกับคน และประวัติศาสตร์ มากกว่าความเป็นสถาบันพรรคการเมือง ที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมความคิด และความต้องการของประชาชน เพื่อเข้าไปจัดทำนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม

ภาพของการรอคอย โห่ร้องต้อนรับ นางออง ซาน ซูจี ในทุกหนทุกแห่งที่ไปหาเสียง จึงเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความสุ่มเสี่ยงในระยะยาวของพรรค NLD ที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ประการที่สาม หาก NLD ชนะการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล พรรคต้องสร้างรัฐบาลใหม่ พร้อมกับกระแสเสรีนิยมและพลังทางสังคม ที่โหมกระหน่ำใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ความอ่อนแอของสถาบันพรรคการเมือง จะทับซ้อนกับความอ่อนแอของสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ในเมียนมาร์

การเดินขบวนประท้วงของกลุ่มนักศึกษา กลุ่มสิทธิแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มปกป้องสิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้สนับสนุนศาสนาพุทธแบบสุดโต่ง กลายเป็นภาพที่คุ้นชิน สะท้อนถึงกระแสประชาธิปไตย

กระนั้น สถาบันการเมืองที่รองรับพลังเหล่านี้ จะต้องถูกวางรากฐานเพื่อความยั่งยืนเช่นกัน เสรีภาพภาคประชาชนที่เกิดขึ้นพร้อมการเลือกตั้ง อันเปลี่ยนโฉมหน้าของเมียนมาร์ที่ผ่านมา เป็นยาที่ดีสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตย แต่การมีสถาบันทางการเมืองของรัฐที่สามารถสร้าง “ระเบียบทางการเมือง” ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา องค์กรอิสระ หรือสหภาพสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการ และแปรเปลี่ยนแรงเสียดทานเข้าสู่ระบบการเมืองอย่างเหมาะสม ถือได้ว่าเป็นยาบำรุงขนานดี สำหรับการมีประชาธิปไตยที่แข็งแรง

ประการสุดท้าย ชัยชนะของพรรค NLD อาจดำเนินอยู่บนทางแพร่ง ในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ถึงแม้สหรัฐและจีนต่างประกาศสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ของเมียนมาร์ ต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมาพรรค NLD และนางซูจี ได้ใช้สหรัฐและโลกตะวันตก ในการสร้างตัวตนและกิจกรรมทางการเมืองมามากว่า 2 ทศวรรษ

หากพรรค NLD เปลี่ยนสถานะไปสู่การเป็นผู้นำรัฐบาล ประสบการณ์และการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ที่อิงกับโลกตะวันตก รวมถึงความใกล้ชิดกับสหรัฐ อาจกลายเป็นความท้าทายต่อการสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมา กับมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน

คงเป็นสิ่งที่ยากลำบากมากขึ้น หากรัฐบาลใหม่จะต้องเผชิญปัญหาการจัดระเบียบใหม่ทางการเมืองภายใน พร้อมกับการสร้างและรักษาสมดุลในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้งสองชาติ

แน่นอนว่า ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่หวังจะเห็นพรรค NLD ได้รับชัยชนะ จัดตั้งรัฐบาล ขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวเมียนมาร์ทุกกลุ่ม ซึ่งสมควรจะได้รับสิทธิและโอกาสนี้มานานแล้ว แต่การพินิจประเด็นปัญหาทางโครงสร้างดังที่กล่าวมา ทำให้ความหวังนี้เต็มไปด้วยความกังวล ต่อโอกาสของการสะท้อนกลับสู่รัฐบาลอำนาจนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดความรุนแรงภายในประเทศขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เค้าลางของแสงใหม่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน ท่ามกลางแนวโน้มของการเผชิญหน้าบนโครงสร้างรัฐที่อ่อนแอในเมียนมาร์ อาจจะทำให้เราเห็นความพยายามในการประนีประนอม ในลักษณะรัฐบาลผสมก็เป็นได้ ซึ่งก็อาจจะดีและเหมาะสมกับเมียนมาร์ในขณะนี้ แต่ปัญหาคงจะไม่ใช่ความคิดและจุดยืนทางการเมืองของ “ผู้นำ” ทางการเมืองต่างๆ หากแต่น่าจะเป็นจุดยืนทางการเมืองของ “ผู้ตาม” หรือประชาชนนั่นเอง ว่าจะยอมรับการประนีประนอมได้มากน้อยแค่ไหน

ชาวเมียนมาร์ได้แสดงพลัง และเลือกอนาคตของประเทศของพวกเขาแล้ว อีกไม่นานเกินรอ พวกเราคงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเมียนมาร์ที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยความหวังให้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นและมีเสถียรภาพ

*บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558

ภาพ: Reuters

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน