home

“พันปีกรุ๊ป”อาศัยกรอบ”ACMECS”ยื่นขอสัมปทานที่ดิน ปลูกยางในลาว กัมพูชา พม่า

พฤษภาคม 18, 2012

“พันปีกรุ๊ป”อาศัยกรอบ”ACMECS”ยื่นขอสัมปทานที่ดิน ปลูกยางในลาว กัมพูชา พม่า

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555  นายพิชย์พิพรรธ ศรีตระกูลรักษ์ ประธานกรรมการบริษัทพันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) ให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันการลงทุนของชาติต่างๆในลาว กัมพูชา และพม่า มีจำนวนมาก เนื่องจากภาครัฐของแต่ละประเทศ เปิดให้การสนับสนุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในด้านการเกษตรที่ประเทศเหล่านี้ยังขาดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ทำให้การเกษตรยังมีความล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตามการพัฒนาการเกษตรดังกล่าว สนับสนุนเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจเท่านั้น รวมทั้งยังมีการออกกฎหมายกีดกันบางอย่าง ที่ทำให้การลงทุนของเอกชนไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แต่ในกรณีของบริษัทพันปี ถือว่าเป็นโชคดีที่บริษัทได้รับประโยชน์จาก  ACMECS (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมืออิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง) ที่รัฐบาลไทยสนับสนุน ในการลงทุนในกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ทั้งภาคการเกษตร ระบบการขนส่ง การศึกษา รวมทั้งการท่องเที่ยว

การสนับสนุนของรัฐภายใต้ ACMECS ทำให้การขอสัมปทานไม่มีปัญหา และยังสามารถต่อสัมปทานได้อีกหลังจากหมดระยะเวลาไปแล้วในอีก 90 ปี ข้างหน้า ดังนั้นเมื่อรัฐบาลไทยให้การสนับสนุน พันปีกรุ๊ปจึงเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งบริษัทมีโครงการที่จะขยายพื้นที่ปลูกยางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง บริษัทตั้งงบประมาณให้การสนับสนุนมากถึง 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะบริษัทมั่นใจว่าธุรกิจยางยังเป็นที่ต้องการของตลาด และจะส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีแผนการลงทุน ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยางด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงอัดยางแท่งที่กัมพูชาเป็นแห่งแรก เนื่องจากมีความเหมาะสมในด้านผลผลิตมากกว่า โดยในอนาคตอาจมีการร่วมลงทุนกับจีน เพื่อก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศเหล่านี้ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะลงทุนอย่างครบวงจร รวมทั้งจะพิจารณาลงทุนในสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว พริกไทย ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง เป็นต้น

ทั้งนี้การลงทุนของบริษัทพันปี ถือได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมมากเพราะเป็นการสอดรับกับ AEC ที่จะมีขึ้น โดยคาดว่าในอนาคตการปลูกยางในไทย กัมพูชา พม่า และลาวจะเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้า -อุตสาหกรรมยางในแถบนี้ได้ ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะเป็นผู้นำในตลาดแห่งนี้

แหล่งที่มา: bangkokbiznews.com

 อิตัลไทยฯเล็งหาเงินกู้ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย 

เมื่อ 14 พฤษภาคม 2555 ผู้บริหารอิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) ได้เดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่า ซึ่งมีมูลค่า 8,600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้เร่งเจรจาแหล่งเงินจาก “เจบิค-ธสน.” และคาดว่าอีก 6 เดือนจะรู้ผล ทั้งนี้นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินลงทุนด้านสาธารณูปโภค เพื่อดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในสหภาพพม่า โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน และวงเงินลงทุนเบื้องต้นคงไม่ถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยบริษัทจะก่อสร้างท่าเทียบเรือ ถนน และทางรถไฟให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี หรือตั้งแต่ปี 2555-2558

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 3,600 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมทวายแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาอัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขต่างๆ โดยจะเชิญชวนบริษัทต่างๆ เข้ามาร่วมทุนต่อไป ซึ่งมีหลายบริษัทให้ความสนใจ เช่น บริษัท ปตท. อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน)หรือเอ็กโก บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ บริษัทได้จัดตั้งบริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด โดยใช้ทุนจดทะเบียน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และถือหุ้นเต็มจำนวน เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย พื้นที่ประมาณ  2 แสนไร่ ภายใต้สัญญาเช่าที่ดินระยะเวลา 75 ปี
แหล่งที่มา: marinerthai.com และ bangkokbiznews.com

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน