home

การประชุมรัฐมนตรีการคลังอาเซียนครั้งที่ 17 ณ ประเทศบรูไน

เมษายน 10, 2013
การประชุมรัฐมนตรีการคลังอาเซียนครั้งที่ 17 ณ ประเทศบรูไน

เมื่อวันที่ 3 – 4 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 17 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน  ประเทศบรูไนดารุสซาลาม  โดยมีนายอับด์เราะห์มาน อิบราฮิม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนที่ 2 ของบรูไนเป็นประธาน  ส่วนไทยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมได้ร่วมหารือความคืบหน้าของการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรอบการประชุมรัฐมนตรีการคลังอาเซียนและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนโดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

1) ด้านเศรษฐกิจอาเซียนมีการเติบโตที่แข็งแกร่งและขยายตัวได้ดีจากปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.6 และคาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2556 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.3 – 6 อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายมุ่งให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคาและระบบการเงินและยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

2) แผนการรวมตัวด้านนโยบายและระบบการเงินอาเซียน ที่จะเป็นการสนับสนุนการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมภายใต้แผนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีความคืบหน้าหลัก 3 ด้านคือ ด้านการพัฒนาตลาดทุน เชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ของไทย มาเลเซียและสิงคโปร์  ด้านการเปิดบริการเสรีด้านการเงิน  มีความคืบหน้าในการเจรจาเปิดบริการเสรีด้านการเงินโดยจะเจรจาแล้วเสร็จในปีนี้  และสุดท้ายด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน ความคืบหน้าในการจัดทำกรอบการเปิดเสรีเคลื่อนย้ายเงินทุน

3) ความร่วมมือด้านการเงินและรวมตัวทางเศรษฐกิจ ในด้านของการพัฒนาระบบระวังภัยและติดตามความคืบหน้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค  ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน ความร่วมมือด้านศุลกากร โครงการนำร่องระบบพิธีศุลกากรอาเซียน ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ความร่วมมือด้านภาษีอากร ด้านการประกันภัย และด้านการเงินภาคประชาชน

4) ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน+3 ในเรื่องการพิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี การพิจารณาแนวทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office – AMRO)  และการพิจารณากลไกการค้ำประกันเครดิตและเงินกู้

โดยประเด็นที่มีการถกกันมากที่สุดคือการเคลื่อนไหวของเงินทุน  โดยเฉพาะการหาวิธีจัดการกับเงินทุนที่ทะลักเข้ามาในภูมิภาค

แหล่งที่มา:  thairath.co.th  และ bangkokbiznews.com

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน