home

Korean Wave in Southeast Asia

มกราคม 17, 2014
Korean Wave in Southeast Asia

Korean Wave in Southeast Asia*
(กระแสเกาหลีนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
SHIM Doobo

แปลและเรียบเรียงโดย
ภาคิน นิมมานนรวงศ์

พัฒนาการของกระแสเกาหลีนิยม

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา วัฒนธรรมสมัยนิยมของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรี รูปแบบการเขียนคิ้ว ไปจนถึงสไตล์รองเท้าที่เป็นที่นิยม ล้วนแพร่กระจายไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนที่เคยถูกครอบงำทางวัฒนธรรมจากอิทธิพลของฮอลลีวูดและญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี กว่า 10 ปีก่อน วัฒนธรรมสมัยนิยมของเกาหลีไม่ได้มีอิทธิพลจนถึงขนาดเป็นที่สนใจของบรรดานักวิชาการมากนัก หนังสือสารานุกรม The Oxford History of World Cinema ฉบับปี 1996 ยังคงพูดถึงแต่ภาพยนตร์ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และจีน ยิ่งกว่านั้น กระทั่งคนเกาหลีเองที่ยังคงรับรู้ถึงการถูกครอบงำทางวัฒนธรรมจากต่างชาติ ก็แทบไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมร่วมสมัยของพวกเขาจะเป็นที่นิยมในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วยซ้ำ

เป็นที่เข้าใจกันว่ากระแสนิยมเกาหลีเริ่มก่อตัวอย่างน้อยในปี 1997 เมื่อละครซี่รีย์เรื่อง What is Love All About? สร้างกระแสตอบรับอย่างยอดเยี่ยมและขึ้นไปติดอันดับละครที่มีเรตติ้งดีที่สุดเป็นอันดับที่สองในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์จีน นอกจากนี้ สอดคล้องกับการเปิดเสรีสื่อสารมวลชนและวิกฤตการเงินในเอเชีย กระแสวัฒนธรรมเกาหลีกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไทย หรืออินโดนีเซีย เนื่องจากนักธุรกิจจำนวนมากเริ่มมองเห็นช่องทางลดต้นทุนด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และละครเกาหลีที่ราคาถูกกว่าญี่ปุ่นและฮ่องกงกว่าครึ่งหนึ่ง และทำให้มูลค่าการส่งออกรายการโทรทัศน์เกาหลีเพิ่มขึ้นจาก 12.7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 420 ล้านบาท) ในปี 1999 มาเป็น 150.95 ล้านดอลลาร์ (ราว 5,000 ล้านบาท) ในปี 2007

นับแต่นั้นมา วงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีก็เริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศ ดาราเกาหลีสร้างกระแสการบริโภคทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่เสื้อผ้าหน้าผม การแต่งกาย ไปจนกระทั่งวัฒนธรรมการศัลยกรรมเสริมความงาม มีรายงานว่าผู้หญิงจีน สิงคโปร์ เวียดนาม หรือไทย ต่างเดินทางไปเกาหลีเพื่อศัลยกรรมใบหน้าตามอย่างบรรดานักร้องนักแสดงที่พวกเขาหรือเธอชื่นชอบ นอกจากนี้ ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก ยังเดินทางไปเที่ยวเกาหลีและเริ่มเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้น จำนวนผู้เข้าทดสอบความรู้ภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้นจาก 2,692 คนในปี 1997 สู่ 189,320 คนในปี 2009 ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวของเกาหลีเริ่มหันมาขายแพคเกจทัวร์ไปตามสถานที่ถ่ายทำละครและภาพยนตร์

การเติบโตทางวัฒนธรรมของเกาหลีมีอะไรมากกว่ารายได้ทางเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะในบริบทที่เกาหลีหลังสงครามเย็น มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นกับประเทศในภูมิภาคมากนัก อาทิ เวียดนามยังคงจำได้ดีกว่าเกาหลีส่งทหารมาต่อสู้กับกองกำลังปลดปล่อยเวียดนามของพวกเวียดมินห์ ขณะที่ไต้หวันยังคงไม่พอใจที่เกาหลีตีจากพวกเขาไปสานสัมพันธ์กับจีน ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมสมัยนิยมของเกาหลีจึงมีบทบาทสำคัญในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดาราเกาหลีบางคนอย่าง แจง ดอง-กัน (Jang Dong-gun) หรือ คิม นัม-จู (Kim Nam-ju) ได้รับความนิยมในเวียดนามถึงขนาดสื่อมวลชนที่นั่นเรียกพวกเขาว่าเป็นดาราประจำชาติ ขณะที่ โบอา (BoA) ก็กลายเป็นนักร้องหญิงชาวเกาหลีคนแรกที่ได้ขึ้นปก Le Monde ของฝรั่งเศส ยิ่งไปกว่านั้น อิทธิพลของวัฒนธรรมสมัยนิยมเกาหลีในภูมิภาคต่าง ๆ ยังฟื้นฟูความเชื่อมั่นในชาติของตนขึ้นมา ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังปี 1997 ที่ติดตามมาด้วยการเข้ามาปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่พวกเขามองว่า ไม่ต่างอะไรกับความอัปยศของชาติ

การศึกษาวิจัยกระแสเกาหลีนิยม

งานวิจัยเกี่ยวกับกระแสเกาหลีนิยมส่วนมากมักกระจุกตัวอยู่กับการศึกษาปรากฎกาณ์ในจีนและญี่ปุ่น ด้วยเหตุว่าจีนเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสนิยมวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลี ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ดี งานบางชิ้นของ Doobo Shim ได้เริ่มหันมาศึกษาผลกระทบของวัฒนธรรมเกาหลีที่มีต่อชีวิตของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่นใน ไทย และ สิงคโปร์

งานศึกษาของ Shim และ  Siriyuvasak (รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์) เรื่อง Asianizing K-pop: production, consumption and identification patterns among Thai youth ใช้มโนทัศน์เรื่องอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Industry) เพื่อศึกษาอิทธิพลของกระแสเกาหลีนิยมที่ต่อเยาวชนไทย พวกเขาหันไปมองการบริโภควัฒนธรรม K-Pop ที่ส่งผลต่อไปยังลักษณะการใช้ชีวิตของวัยรุ่นชาวไทย ทั้งนี้ พวกเขาโต้แย้งว่า วัฒนธรรมเกาหลีไม่ได้กำหนดความเป็นไปของชีวิตผู้คนโดยตรง กลับกัน มันได้เข้าปะทะกับความเป็นชาติและความคิดเรื่องชาตินิยม (หรือความเป็นท้องถิ่น) ในสังคมไทยไปพร้อม ๆ กันด้วย ขณะที่บทความเรื่อง Korean wave and Korean women television viewers in Singapore ของ Shim เสนอว่า กระแสเกาหลีนิยมได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของคนเกาหลีในต่างประเทศไปจากเดิม เขาศึกษากลุ่มผู้หญิงในสิงคโปร์ และชี้ว่า อิทธิพลของเกาหลีนิยมทำให้พวกเธอสามารถต่อรองในความสัมพันธ์กับสามีตัวเองและคนอื่น ๆ ในสังคมได้มากขึ้น

ทำนองเดียวกัน ปรากฎการณ์เกาหลีนิยมมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้นักวิชาการหันมาทบทวนถึงคำอธิบายเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ใหม่อีกครั้ง เริ่มแรก พวกเขาเริ่มมองเห็นข้อจำกัดของคำอธิบายแบบโลกาภิวัตน์ทางเดียว ที่ละเลยปฏิสัมพันธ์และความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมระหว่างชาวเกาหลีกับผู้คนในพื้นที่อื่น ๆ ขณะเดียวกัน นักวิชาการบางกลุ่มที่อธิบายโลกาภิวัตน์ว่าเป็นผลผลิตของยุคสมัยใหม่และการเติบโตของทุนนิยมก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อจำกัดว่าไม่สามารถใช้อธิบายปรากฎการณ์ในยุคปัจจุบันได้ เช่น ในบทความเรื่อง Modernity, Postmodernity, or Capitalism? ของ Ellen M. Wood ชี้ว่า ทุนนิยมกับภาวะสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน หากภาวะสมัยใหม่คือความก้าวหน้าและการเป็นอิสระของมนุษยชาติ เป้าหมายของทุนนิยมที่มุ่งเน้นการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลมากกว่าการพัฒนาชีวิตมนุษย์ก็มีแต่จะขัดแย้งกับภาวะสมัยใหม่เอง

ด้วยเหตุนี้ คำอธิบายแบบใหม่เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์จึงหันมามองภาวะลูกผสมทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายขอบกับศูนย์กลางตามทรรศนะแบบหลังอาณานิคมศึกษา โดยเน้นศึกษาอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ในการผลักดันคนในท้องถิ่นหวนไปหาความเป็นท้องถิ่นของตัวเอง ท่ามกลางกระแสการพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่จากโลกตะวันตก ความคิดเช่นนี้เป็นรากฐานให้นักวิชาการที่ศึกษากระแสเกาหลีนิยมหลายคนใช้อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น Doobo Shim ที่ให้ความสำคัญกับ จิตสำนึกในภาวะวิกฤต (crisis consciousness) ของบรรดาผู้กำหนดนโยบายและนักธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนของเกาหลีในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 กล่าวคือ เขาโต้แย้งว่า ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐฯ รัฐบาลเกาหลีได้อนุญาตให้ภาพยนตร์จากฮอลลีวูดเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นได้โดยตรงเป็นครั้งแรก บริษัทนำเข้าภาพยนตร์ของเกาหลีต้องล้มเลิกกิจการไปหลายแห่ง ภาพยนตร์ที่ผลิตโดยขาวเกาหลีลดจำนวนลงอย่างมาก และสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 80 ให้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น ภายใต้ความถดถอยทางวัฒนธรรม ชาวเกาหลีหันกลับมาฟื้นฟูอุตสาหรรมทางวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมา ภาวะลูกผสมทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นเมื่อตัวแสดงทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นพยายามต่อสู้ต่อรองกับตัวแสดงอื่น ๆ ในระบบโลก พวกเขาใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด เป็นต้นทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิมขึ้นมา จนอาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์ได้ทำสร้างภาวะลูกผสมที่ผลักดันให้คนท้องถิ่นพยายามรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

การเติบโตของกระแสเกาหลีนิยมในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสัญญาณที่เด่นชัดถึงความสำเร็จในการปรับตัวของชาวเกาหลีเอง ภายใต้บริบทของการครอบงำทางวัฒนธรรมจากโลกตะวันตก กระนั้น ปรากฎการณ์ดังกล่าวก่อคำถามสำคัญขึ้นสองประการ นั่นคือ (1) เกาหลีจะทำอย่างไร ในเมื่อประเทศอื่น ๆ ในเอเชียมองว่ากระแสเกาหลีนิยมเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม และ (2) เกาหลีจะใช้ประโยชน์จากความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีของผู้คนในเอเชีย ในการสร้างประชาคมความร่วมมือในเอเชียตะวันออกได้อย่างไร

ทั้งนี้ นักวิจารณ์บางคนเห็นว่า กระแสเกาหลีนิยมเกิดจากความสามารถในการเข้าถึงคุณค่าทางอารมณ์ที่ชาวเอเชียมีร่วมกัน อย่างเช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว คำถามคือเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะฝันถึง “ชุมชนจินตกรรม” อีกรูปแบบหนึ่งในเอเชีย ในเมื่อผู้คนเหล่านี้ต่างได้รับและแบ่งปันอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันมา จากรับชมภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ละครเรื่องเดียว ฟังดนตรีแบบเดียวกัน

*แปลและเรียบเรียงจาก Shim Doobo, “Korean Wave in Southeast Asia”, Kyoto Review of Southeast Asia Issue 11 (March 2011): Southeast Asian Studies in Korea. Retrieved January, 13 2013 from http://kyotoreview.org/issue-11/korean-wave-in-southeast-asia/

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน