home

‘สาดน้ำสงกรานต์’ วัฒนธรรมร่วมรากแห่งอุษาคเนย์

เมษายน 7, 2016
‘สาดน้ำสงกรานต์’ วัฒนธรรมร่วมรากแห่งอุษาคเนย์

การสาดน้ำ รดน้ำ และการถือเอาวันสงกรานต์ (13 เมษายนของทุกปี) เป็นวันเริ่มศักราชใหม่นั้น ไม่ได้มีเพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังปฏิบัติกันอย่างทั่วไปในประเทศกัมพูชา เมียนมา ลาว และบางกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณจีนตอนใต้ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ‘สงกรานต์’ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่า ‘อุษาคเนย์’ เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภูมิภาคเอเชียด้วย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาเรื่อง ‘รดน้ำ – สากน้ำสงกรานต์’ วัฒนธรรมร่วมรากของอุษาคเนย์ ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายสุจิตต์ วงศ์เทศ องค์ปาฐกพิเศษด้านศิลปะวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อธิบายว่า ‘การรดน้ำ’ หมายถึง การตักน้ำรดราดขอมากันอย่างนอบน้อมในระบบเครือญาติ ให้ชุ่มฉ่ำร่มเย็นหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ถือเป็นประเพณีดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของอุษาคเนย์ ซึ่งมีอยู่ก่อนการรับคติสงกรานต์ จากพิธีพราหมณ์ของอินเดีย หลังจากนั้น จึงผนวกประเพณีรดน้ำตามประเพณีพื้นเมืองเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสงกรานต์  ส่วน ‘การสาดน้ำ’ หมายถึง การตักน้ำสาดใส่กันอย่างรวดเร็ว และรุนแรง เพิ่งมีมาไม่เกิน 100 ปี และเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยไม่เกิน 50 ปีมานี้ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การเมือง และกระแสวัฒนธรรมท่องเที่ยว

ด้าน ผศ.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการศึกษาว่า ‘สงกรานต์’ เป็นงานใหญ่ในหมู่คนไท ในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาลมาตั้งแต่โบราณ และเพิ่งถูกกำหนดให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยทีหลัง สำหรับคำว่าสงกรานต์ในวรรณกรรมไทย เพิ่งค้นพบคำนี้ เมื่อช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น อีกทั้ง ยังมีการให้ความหมายในรูปแบบที่แตกต่างไปจากการให้ความหมายแบบหมู่คนไทในอดีต

ขณะที่ อาจารย์ศิริวรรณ วรชัยยุทธ ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเพณีสาดน้ำในประเทศจีนว่า เริ่มขึ้นจากชาวไท ที่พำนักอยู่ทางตินใต้ของจีน นอกจากจะเป็นวันปีใหม่ของชาวไทแล้ว ยังถือเป็นเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (ประมาณ 3 – 4 วัน) ในสิบสองปันนาอีกด้วย โดยวันแรก เรียกว่า ‘วันสงกรานต์ล่อง’ เป็นวันส่งท้ายปีเก่า วันที่สอง เรียกว่า ‘วันเนา’ จะมีการสากน้ำ เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และวันสุดท้าย เรียกว่า ‘วันพญาวัน’ ถือเป็นวันเฉลิมฉลองเริ่มต้นปีใหม่

ด้านนางสาวสิทธิพร เนตรนิยม นักปฏิบัติการวิจัย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเกษตรกรรมในพื้นที่ ผ่านการเฝ้าดูปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีความสัมพันธ์กันใน 3 ส่วน ได้แก่ ปรากฎการณ์ขึ้นของดาวฤกษ์ สภาพแห่งฤดูกาล และอายุของพืชพันธุ์ที่นำมาเพาะปลูก ไปจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ขณะที่ อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงเทศกาลโฮลี ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งการสดสีสันใส่ คล้ายคลึงกับประเพณีสงกรานต์ของไทย โดยเทศกาลโฮลีนี้ มีความเกี่ยวโยงกับสภาพดินฟ้าอากาศ และการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ในแต่ละพื้นที่ต่างก็ให้รายละเอียดของเทศกาลนี้แตกต่างกันไป แต่มีจุดร่วมกันก็คือ เทศกาลนี้ จะช่วงทำลายอุปสรรคในระยะของการเปลี่ยนผ่านจากห้วงเวลาเก่า สู่ห้วงเวลาใหม่ โดยหวังว่าจะได้พบสิ่งที่ดีกว่า

ด้านนายการุณ สกุลประเดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นวันปีใหม่ของไทย อันเป็นประเพณีที่สอดคล้องกับสังคมเกษตรกรรม ลักษณะภูมิประเทศที่มีลำคลองอยู่เป็นจำนวนมาก และลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้น ส่วนใหญ่ประชาชนในทุกภาคของประเทศไทย จัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้น ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีรายละเอียดทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป แต่มีจุดร่วมกันก็คือ การเดินทางไปทำบุญที่วัด และสรงน้ำพระ

ดาวน์โหลดหนังสือเรื่อง ‘สาดน้ำสงกรานต์ วัฒนธรรมร่วมรากเอเชีย’

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน