home

การเติบโตของ CLMVT โอกาสและความท้าทาย

ธันวาคม 15, 2018
การเติบโตของ CLMVT โอกาสและความท้าทาย

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง “เส้นทางสายไหมของจีนกับการเดินหน้ากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง” มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความคืบหน้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMVT ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายเส้นทางสายไหมของจีน พร้อมนำเสนอโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สำหรับงานจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ คุณหยาง หยาง ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารนิเทศสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เส้นทางสายไหม กับโอกาสของประเทศในกลุ่ม CLMVT” ว่า กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ถือเป็นกลุ่มประเทศที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ กลุ่มประเทศข้างต้นมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน รัฐบาลจีนพยายามขอแรงสนับสนุนในประโยบายของตนจากนานาประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคไปสู่ระบบเศรษฐกิจระดับโลก

นับตั้งแต่การริเริ่มนโยบายเส้นทางสายไหมกระทั่งปัจจุบัน มี 103 ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ และมีการร่วมลงนามในข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้วกว่า 118 ฉบับ มีการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องไปแล้วกว่า 7 ล้านล้านดอลล่าสหรัฐฯ อันนำมาสู่การสร้างรายได้และการจ้างงานแก่ประชาชนในแต่ละประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่รับประโยชน์จากห่วงโซ่คุณค่ามากมายจากโครงการนี้ก็คือประเทศต้นทางโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMVT ซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของการวางนโยบาย ทั้งนี้ คุณหยาง หยาง เน้นย้ำว่า นโยบายเส้นทางสายไหมของจีนนี้ปราศจากเงื่อนไขทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในการประชุมสัมมนาสาธารณะครั้งนี้ได้จัดให้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “การเติบโตของ CLMVT โอกาสและความท้าทาย” โดยศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความสามารถในการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในต่างประเทศนั้น กลุ่มประเทศ CLMVT จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ แต่ทั้งนี้ รูปแบบโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศไม่ใช่ว่าจะมีรูปแบบที่เหมือนกันทั้งหมด แต่ละประเทศจะต้องเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศของตนเอง ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ CLMVT จะต้องคอยประเมินค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช่เพียงแต่กู้ยืมเงินจากต่างชาติแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดหนี้สาธารณะ

สำหรับภาคธุรกิจในไทย คุณเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมานี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเติบโตเป็นอย่างมากในกลุ่มประเทศ CLMV หนึ่งในนั้นก็คือนักลงทุนชาวไทย โดยการเข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศนั้นการให้ความสนใจกับสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในประเทศนั้นๆ รวมถึงการสร้างความไว้วางใจมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อระงับไม่ให้เกิดปัญหาหรือความเข้าใจผิดตามมา ขณะเดียวกัน จีนก็เริ่มเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาอันดีในการมองหาโอกาสในการลงทุนซึ่งมาพร้อมกับการแข่งขัน เมื่อการแข่งขันจะเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่แต่ละประเทศควรให้ความสนใจคือการร่วมกันหาแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างกัน

ในส่วนของนักลงทุนชาวจีน คุณสวี เกินโหลว กรรมการผู้จัดการใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมระยองไทยจีน กล่าวว่า เอเชียตะวันออกฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่นักธุรกิจจีนให้ความสนใจเดินทางเข้ามาลงทุนเนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบรูณ์ มีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลากหลาย โดยจำนวนมากเป็นสินค้าที่จีนขาดแคลนและไม่สามารถผลิตได้โดยเฉพาะประเทศไทย ขณะที่ ลาวและเมียนมาเป็นประเทศที่เพิ่งจะมีการเปิดให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจมากเช่นเดียวกัน และคาดการณ์ว่า หากนักธุรกิจจีนเดินทางเข้าลงทุนในสองประเทศข้างต้นนี้ จะช่วยให้เกิดกระการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศ ก่อให้เกิดศักยภาพในการพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน